เอไอเอส ร่วมกับมูลนิธิช่วยคนตาบอดฯ เปิดศูนย์ปฏิบัติการ Call Center แด่ผู้พิการทางสายตา ที่ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์

ศุกร์ ๐๗ กันยายน ๒๐๐๗ ๑๕:๐๙
กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--เอไอเอส
เอไอเอส และ มูลนิธิช่วยคนตาบอดฯ ร่วมกันเปิดศูนย์ปฏิบัติการ Call Center แด่ผู้พิการทางสายตา อย่างเป็นทางการ โดยศูนย์ปฏิบัติการแห่งนี้ พร้อมเปิดกว้างให้ทุกท่านเข้ามาสัมผัส เยี่ยมชมการปฏิบัติงานของผู้พิการทางสายตาอย่างน้อยเป็นการเข้ามาสร้างกำลังใจ เป็นแรงสนับสนุนที่ดีให้กับผู้พิการและยังเป็นการเปิดโอกาสให้สังคมได้รับทราบถึงศักยภาพความสามารถของผู้พิการให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในสังคม
นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส กล่าวว่า เป็นระยะเวลากว่า 7 เดือนของการปฏิบัติงาน ในโครงการ “เอไอเอส สร้างอาชีพ Call Center แด่ผู้พิการทางสายตา” ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี เห็นได้จากคุณภาพ ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของพนักงานผู้พิการทางสายตาที่มีต่อลูกค้าผู้ใช้บริการนั้นเท่าเทียมกับพนักงานปกติทั่วไป ทั้งนี้เป็นผลมาจากความร่วมมือกันของมูลนิธิช่วยคนตาบอดฯ โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ และสถาบันคนตาบอดแห่งชาติ เพื่อการวิจัยและพัฒนา ผู้ดูแลและพัฒนาโปรแกรม PPA ตาทิพย์ (Text to Speech ภาษาไทย)
มาวันนี้เอไอเอส มีความตั้งใจที่จะต่อยอดผลการทำงานจากโครงการนี้ ด้วยหวังให้เป็นโครงการนำร่องให้กับทุกหน่วยงานทั้งภาคราชการ และเอกชนได้มองเห็นความสามารถของผู้พิการ ไม่ว่าเขาจะพิการในแบบใดก็ตาม เพื่อให้เห็นว่า ผู้พิการเหล่านี้ เป็นกลุ่มคนที่มีคุณภาพ สามารถปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลปกติทั่วไป เพียงแต่สังคมจะเห็นความสำคัญ และเปิดโอกาสให้เขามากน้อยเพียงใด
“บริษัท เชื่อว่าโครงการนี้ จะสามารถปลุกกระแสให้คนในสังคมตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับผู้พิการทุกประเภท อย่างน้อยเป็นการเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้สามารถก้าวเข้าสู่ตลาดงานเพิ่มขึ้น ซึ่งการที่บริษัทมาเปิดศูนย์ปฏิบัติการ Call Center ภายในพื้นที่ มูลนิธิช่วยคนตาบอดฯ ด้วยมองว่า สถานที่แห่งนี้พร้อมสำหรับพนักงานผู้พิการทางสายตา ทั้งเป็นพื้นที่ ที่เปิดโอกาสให้ประชาชน บุคคลทั่วไป ที่เข้ามาติดต่อประสานงานกับทางมูลนิธิ หรือโรงเรียนฯ ได้มีโอกาสเข้ามาเยี่ยมชม สัมผัสการปฏิบัติงานจริง ที่สำคัญพนักงานกลุ่มนี้จะเป็นแบบอย่าง เป็นกำลังใจให้กับรุ่นน้องในโรงเรียนคนตาบอดฯ เพื่อทราบถึงโอกาสว่าผู้พิการทางสายตาหรือผู้พิการทั่วไปก็สามารถร่วมงานกับคนปกติในสังคมได้”นายสมประสงค์ บุญยะชัย กล่าว
คุณหญิงอุไรวรรณ ศิรินุพงศ์ ประธานมูลนิธิช่วยคนตาบอด แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า ในนามของ มูลนิธิฯ และโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ยินดีกับผลการปฏิบัติงานของผู้พิการและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ผู้พิการกลุ่มนี้สามารถทำให้คนในสังคมทราบว่า เขามีความพร้อม มีความสามารถ มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการทำงานไม่ต่างไปจากบุคคลปกติทั่วไป
จากผลของการทำงานครั้งนี้ ถือเป็นแรงผลักดัน เป็นกำลังอย่างดีให้กับมูลนิธิฯ และโรงเรียน ในการสร้างสรรค์ พัฒนาและสนับสนุนผู้พิการทางสายตา เพื่อพร้อมและรองรับกับความต้องการของตลาดและสังคม ซึ่งไม่จำเพาะเจาะจงกับงานด้าน Call Center เท่านั้น แต่พร้อมที่จะรองรับต่อทุกสายงานอาชีพที่สังคมต้องการ ทั้งนี้ด้วยหวังว่า ผู้พิการทางสายตามีอาชีพที่สร้างรายได้ สามารถเลี้ยงตนเองและได้ทำงานตามความรู้ความสามารถที่ได้เรียนมา
“ผลงานของผู้พิการทางสายตากลุ่มนี้ สามารถสร้างกำลังใจให้เกิดกับผู้พิการทุกประเภท ไม่เฉพาะคนตาบอดเท่านั้น แต่ขยายวงกว้างสู่ผู้พิการประเภทอื่นๆ ทำให้เขามีกำลังที่จะต่อสู้ในสังคม เมื่อเขาทราบว่าสังคมมองเห็นและยอมรับในความสามารถของเขา ซึ่งในส่วนของมูลนิธิฯและโรงเรียน เตรียมที่จะต่อยอดด้วยการเสริมศักยภาพความรู้ ความสามารถสู่ด้านอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสามารถนำไปประกอบอาชีพอื่นๆในอนาคตได้”คุณหญิงอุไรวรรณ ศิรินุพงศ์ กล่าว
นายกิติพงศ์ สุทธิ ผู้อำนวยการ สถาบันคนตาบอดแห่งชาติ เพื่อการวิจัยและพัฒนา ผู้ดูแลและพัฒนาโปรแกรม PPA ตาทิพย์ (Text to Speech ภาษาไทย) กล่าวว่า สถาบันฯ ยินดีในการดำเนินงานร่วมกันครั้งนี้ของทุกหน่วยงาน ที่เห็นความสำคัญของผู้พิการทางสายตา จากสภาพความเป็นจริง เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร (ICT) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ซึ่งกับผู้พิการทางสายตาก็เช่นกันต้องเข้าไปสัมผัสกับสิ่งนี้ และกลายเป็นว่านี้คือหัวใจสำคัญในการดำรงชีวิต เพราะเทคโนโลยีสามารถเข้ามารองรับและอำนวยความสะดวกได้มาก จึงได้พัฒนาประสิทธิภาพของอักษรเบรลล์ การประยุกต์ใช้ในอุปกรณ์นำทาง รวมทั้งการอำนวยความสะดวกให้คนตาบอดสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มีโปรแกรมตาทิพย์ขึ้นมา
“ตาทิพย์” เป็นโปรแกรมสังเคราะห์เสียงภาษาไทย (Thai text to Speech) เมื่อใช้โปรแกรมดังกล่าวร่วมกับโปรแกรมอ่านจอภาพของต่างประเทศ (Screen Reader Software) จะทำให้คอมพิวเตอร์แสดงผลทุกอย่างบนหน้าจอเป็นเสียงพูดภาษาไทยควบคู่กันไปด้วย โปรแกรมดังกล่าวนี้ จะช่วยให้คนตาบอดสามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ด้วยตนเองได้อย่างสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ส่วนงานประชาสัมพันธ์ เอไอเอส โทร. 0 2299 5597

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ