กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--ปตท.
วันนี้ (2 พฤศจิกายน 2550) เวลา 15.30 น. ที่ ห้องทิวลิป โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ สำหรับโรงไฟฟ้าจะนะ ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดย นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดย นายไกรสีห์ กรรณสูต ผู้ว่าการ กฟผ. เพื่อนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมจะนะ จังหวัดสงขลา
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยถึงสาระสำคัญในสัญญาฯ ว่า ปตท. ตกลงจะจัดส่งก๊าซธรรมชาติ ให้ กฟผ. ในปริมาณสูงสุดวันละ 114 พันล้านบีทียูต่อวัน จากแหล่งก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ร่วม ไทย-มาเลเซีย ผ่านระบบท่อในทะเลของ บริษัท ทรานส์ไทย-มาเลเซีย ( ประเทศไทย ) จำกัด และระบบท่อบนบกของ ปตท. ส่งไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมจะนะ ขนาดกำลังผลิตประมาณ 730 เมกกะวัตต์ จังหวัดสงขลา เป็นระยะเวลา 25 ปี โดยเริ่มตั้งเดือนพฤษภาคม 2551 รวมมูลค่าซื้อขายก๊าซฯ ตลอดอายุสัญญา คิดเป็นเงินประมาณ 200,000 ล้านบาท
กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปตท. ได้ตระหนักถึงภารกิจสำคัญในการจัดหาเชื้อเพลิงเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ และตอบสนองความต้องการใช้เชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ภายใต้เป้าหมายการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดอย่างมีคุณค่าที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดปัจจัยของสภาวะโลกร้อนที่เป็นปัญหาของโลกในปัจจุบัน ดังนั้นการจัดหาก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าจะนะในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสนับสนุนการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงสะอาดที่ไม่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังช่วยให้ประเทศลดการนำเข้าน้ำมันเตาได้ประมาณ 920 ล้านลิตรต่อปี หรือเท่ากับ 23,000 ล้านลิตร ตลอดอายุสัญญา รวมมูลค่าที่ประเทศสามารถประหยัดเงินตราจากการนำเข้าน้ำมันเตาได้ไม่ต่ำกว่า 7,200 ล้านบาทต่อปี หรือ 180,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา
นายไกรสีห์ กรรณสูต ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กฟผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ มีภารกิจหลักในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าที่มีคุณภาพให้เพียงพอแก่ความต้องการ ในราคาที่เหมาะสมแก่ประเทศและประชาชนในทุกพื้นที่ และจากการลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซ
ธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าจะนะในครั้งนี้ จะเป็นการจัดหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติสำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ โดยเฉพาะภาคใต้ตอนล่างซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงกว่ากำลังการผลิตของระบบที่มีอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้ ดังนั้นการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมจะนะแห่งนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังเป็นการช่วยลดต้นทุนในภาคการผลิตไฟฟ้าของประเทศ และลดการพึ่งพาการนำเข้ากระแสไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมมูลค่า 2,000 ล้านบาทต่อปี หรือเท่ากับ 50,400 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา ซึ่งก่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ และยังช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนอีกด้วย
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติในครั้งนี้ นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ เพราะจะทำให้ประเทศมีปริมาณสำรองไฟฟ้าอย่างเพียงพอและมั่นคง โดย ปตท. สามารถจัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า และอุตสาหกรรมต่อเนื่องของประเทศได้อย่างเพียงพอ ลดผลกระทบจากภาวะวิกฤตราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างและสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้พลังงานที่ผลิตได้เองในประเทศ ทั้งในภาคการผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรม และ การขนส่ง นอกจากนี้ก๊าซธรรมชาติยังเป็นพลังงานที่สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ มีราคาที่สามารถแข่งขันได้ดีเมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงทดแทนชนิดอื่น การลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติในครั้งนี้ จึงนับเป็นอีกก้าวหนึ่งในความร่วมมือของ ปตท. และ กฟผ. ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งนอกจากจะเป็นการนำทรัพยากรของประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าแล้ว ยังทำให้ประเทศสามารถประหยัดเงินตราจากการนำเข้าน้ำมันที่มีความผันผวนสูงตามสถานการณ์ของตลาดโลกด้วย