กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--TCELS
TCELS สนับสนุนงบประมาณบางส่วนให้ อย.-กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ คลอดกฎจัดระเบียบสเต็มเซลล์ก่อนนำไปใช้กับผู้ป่วย “น.พ.ธงชัย” ยืนยันประเทศไทยมีกระบวนการพิจารณาจริยธรรมที่เข้มแข็งยาวนานนับสิบปี ไม่เชื่อมีการวิจัยร่วมกับ “ดร.หวาง” ย้ำจุดยืน TCELS หนุนวิจัยสเต็มเซลล์ตัวแก่ยืดอายุผู้ป่วยโรคเลือดเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับนักวิจัยเกาหลีผู้อื้อฉาวแต่อย่างใด
นายแพทย์ธงชัย ทวิชาชาติ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) กล่าวว่าตามที่มีข่าวตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่านักวิจัยชาวเกาหลีใต้ หวาง วู ซุก เข้ามาในประเทศไทยเพื่อทำการวิจัยตามคำเชิญของสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย 2 แห่ง นั้น โดยส่วนตัวเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะคิดว่าคงไม่มีสถาบันใดอยากที่จะให้ร่วมงานวิจัยด้วย อย่างไรก็ตามในส่วนของ TCELS เน้นการสนับสนุนนักวิจัยไทย ไม่ได้ให้ความสำคัญกับนักวิจัยชาวต่างชาติมากนัก เพราะเท่าที่ได้สัมผัสกับนักวิจัยด้านสเต็มเซลล์ของไทยตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีความสามารถไม่แพ้ชาติอื่น อีกทั้งในทุกมหาวิทยาลัยก็มีกระบวนการพิจารณาด้านจริยธรรมที่เข้มแข็งมานานนับสิบปี ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าจะนำผลการวิจัยไปใช้กับผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย
น.พ.ธงชัย กล่าวว่า TCELS ได้รับงบฯจากสำนักงบประมาณในการตั้งธนาคารเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งจะเป็นทั้งธนาคารและสถานปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากรกที่ได้มาตรฐานและเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยและให้บริการรักษาโรค ซึ่งขณะนี้โรคที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดได้ผลคือ โรคมะเร็งในเม็ดโลหิต และโรคธาลัสซีเมียที่พบว่าคนไทยมียีนแฝงที่เป็นพาหะถึง 24 ล้านคน คิดเป็น 36.9% ของประชากรไทย ถือได้ว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของประเทศไทย โดยเซลล์ที่จะนำมาปลูกถ่ายนั้นเป็นเซลล์ตัวแก่ที่เก็บจากรกไม่สามารถเติบโตเป็นสิ่งมีชีวิตต่อไปได้ ซึ่งแตกต่างจากการใช้เซลล์ต้นกำเนิดที่เน้นตัวอ่อน ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยเท่านั้น
“TCELS เชื่อมั่นว่าประเทศไทย ให้ความสำคัญเรื่องจริยธรรมการวิจัยมาก และที่ผ่านมาก็มีกระบวนการตรวจสอบอย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด แต่เนื่องจากการนำเซลล์ตัวอ่อนมาวิจัยนั้นเพิ่งจะเริ่มแพร่หลายไปทั่วโลก จึงถูกจับตาเป็นพิเศษ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกองประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จึงได้ประชุมร่วมกันเพื่อออกเป็นกฎระเบียบในการควบคุม โดยขณะนี้อย.อยู่ระหว่างการศึกษาทางวิชาการเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ผลิตภัณฑ์จากสเต็มเซลล์ เช่นเดียวกับกรมสนับสนุนบริการที่กำลังศึกษาการดำเนินงานและมาตรฐานของต่างประเทศในด้านการจัดเก็บรักษาสเต็มเซลล์ และการเตรียมการก่อนนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย เพื่อนำมาปรับปรุงการดำเนินงานและเพิ่มศักยภาพในการให้บริการของสถานพยาบาลในประเทศไทย โดย TCELS ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณบางส่วน” ผอ. TCELS กล่าว