กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ปรับเพิ่มแนวโน้มเครดิตของอันดับเครดิตสากล และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เป็นบวกจากแนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ สืบเนื่องมาจากระดับของความสนับสนุนจาก GE Capital International Holdings Corporation (“GECIH”) ที่ให้กับธนาคารที่สูงขึ้น โดยเห็นได้จากการที่ BAY มีแผนที่จะเข้าซื้อธุรกิจการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ของ GECIH ในประเทศไทย และการที่ GECIH ได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน BAY เป็นครั้งที่สองในเดือนกรกฎาคม 2550 และการซื้อหุ้นเพิ่มทุนอีกครั้งเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา โดยทำให้สัดส่วนการลงทุนใน BAY ของ GECIH สูงขึ้นเป็น 35% จาก 29% ปัจจุบันฟิทช์ให้อันดับเครดิตแก่ BAY ดังต่อไปนี้ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (“IDR”)) ที่ ‘BBB-’ (BBB ลบ) แนวโน้มเครดิตเป็นบวก อันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศระยะสั้นเป็น ‘F3’ อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาว ของ BAY ที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มเครดิตเป็นบวก อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C/D’ อันดับเครดิตสนับสนุนของธนาคารที่ ‘3’ ฐานอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘BB’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BB+’ และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘A(tha)’
ในช่วงเดือนมกราคมปี 2550 ฟิทช์ได้ปรับอันดับเครดิตของ BAY ภายหลังจากที่ GECIH ได้เข้าซื้อหุ้นของธนาคารในสัดส่วน 29%
การปรับแนวโน้มเครดิตสะท้อนถึงระดับของความสนับสนุนจาก GECIH ที่มีให้กับธนาคารในระดับที่สูงขึ้น และการที่ธนาคารมีสถานะของเงินกองทุนและคุณภาพของเครือข่ายของธนาคารที่แข็งแกร่งขึ้น ทั้งๆที่ภาพของการดำเนินธุรกิจโดยรวมในปี 2550 ยังมีความอ่อนแออยู่ ในขณะที่ธนาคารยังมีคุณภาพของสินทรัพย์ที่ยังคงอ่อนแอ เงินกองทุนที่แข็งแกร่งขึ้นของธนาคารและการคาดการณ์ถึงสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่แข็งแกร่งขึ้นในปี 2551 รวมถึงระดับของความสนับสนุนทางด้านการดำเนินธุรกิจและการเงินจากทาง GECIH ที่สูงขึ้น น่าจะทำให้ผลประกอบการของธนาคารดีขึ้นได้ในช่วงหนึ่งถึงสองปีข้างหน้า ในขณะเดียวกัน ช่วงเวลาของสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนตัวเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้และความผันผวนทางการเมืองที่ยังคงอยู่ อาจเป็นปัจจัยลบต่อการขยายสินเชื่อและคุณภาพของสินทรัพย์ของธนาคารได้
การเพิ่มทุนที่เกิดขึ้นในปี 2550 ทำให้ธนาคารสามารถจัดการกับปัญหาการกันสำรองหนี้สูญและระดับของเงินกองทุนที่อ่อนแอ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาเป็นปัจจัยกดดันต่ออันดับเครดิตของธนาคาร การเข้ามาของ GECIH น่าจะทำให้การดำเนินธุรกิจธนาคารสำหรับลูกค้ารายย่อยของ BAY มีเครือข่ายของการให้บริการที่กว้างขวางขึ้น GECIH ได้ส่งตัวแทนเข้ามานั่งบริหารทั้งในส่วนของกรรมการบริหารและผู้บริหารระดับสูงใน BAY ซึ่งรวมถึงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ (Chief Executive Officer) และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ - ฝ่ายการเงิน (Chief Financial Officer) โดยพึ่งมีการแต่งตั้งไปเมื่อไม่นานมานี้ BAY ยังน่าจะได้รับประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของ GECIH ในด้านการบริการทางธุรกรรมระดับสากล ด้านเทคโนโลยี และด้านการปฏิบัติการ การดำเนินธุรกิจธนาคารที่มุ่งเน้นลูกค้ารายย่อยซึ่งมีอัตรากำไรที่สูงกว่าน่าจะช่วยให้ผลกำไรของธนาคารปรับตัวดีขึ้นในระยะปานกลาง ถึงแม้จะมีความเสี่ยงจากความผันผวนของผลกำไรที่มีสูงขึ้นด้วยก็ตาม
BAY รายงานผลประกอบการขาดทุนจำนวน 7.8 พันล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกปี 2550 เนื่องจากมีการกันสำรองหนี้สูญและการขาดทุนที่เกิดขึ้นในส่วนของการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ ระดับของหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.6 หมื่นล้านบาท หรือ 16.5% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาสที่สองปี 2550 จากระดับ 6.4 หมื่นล้านบาท หรือ 13.8% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2549 ถึงแม้ว่าธนาคารจะมีอัตราส่วนของการกันสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่แข็งแกร่งขึ้นมาอยู่ที่ 49% ณ สิ้นไตรมาสที่สองปี 2550 แต่อัตราส่วนดังกล่าวยังคงต่ำกว่าธนาคารในกลุ่มที่ฟิทช์ใช้เป็นตัวเปรียบเทียบความแข็งแกร่งทางด้านเครดิตบางรายซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่มาจากการที่ต้องกันสำรองเพิ่มขึ้นอีก ขณะที่ BAY คาดว่าการกันสำรองหนี้สูญเพิ่มเติมในอนาคตไม่น่าจะอยู่ในระดับที่สูง ธนาคารมีความแข็งแกร่งของฐานของเงินทุนเพียงพอที่จะใช้ในรองรับการตัดหนี้เสีย
หลังจากที่ได้รับการอัดฉีดเงินทุนจำนวน 27.8 พันล้านบาทในเดือนมกราคม 2550 ตามด้วย 9.1 พันล้านบาทในเดือนกรกฎาคม 2550 และอีก 2.6 พันล้านบาทในเดือนกันยายน 2550 อัตราส่วนเงินกองทุนรวมและเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของ BAY ปรับตัวขึ้นมาที่ประมาณ 20% และ 15% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2549 ตามลำดับ อัตราส่วนเงินกองทุนดังกล่าวคาดว่าจะลดลงอีกครั้งมาที่ระดับ 16% และ 12% ตามลำดับ หลังจากที่การเข้าซื้อธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ของ GECIH โดย BAY เสร็จสิ้นลงภายในปี 2550 ทั้งนี้ลูกหนี้ส่วนใหญ่ของ GECIH เป็นสินเชื่อประเภทรถยนต์มือสองและรถจักรยานยนต์จำนวน 9.4 หมื่นล้านบาท การกันสำรองหนี้สูญที่เพิ่มขึ้นและการเติบโตขึ้นของสินเชื่ออาจจะทำให้อัตราส่วนเงินทุนของธนาคารลดลงไปอีก แต่อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มองว่าอัตราส่วนดังกล่าวน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2488 และเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของประเทศไทย โดยมีสาขาทั้งสิ้น 561 สาขา ส่วนแบ่งการตลาดทางด้านสินเชื่อและส่วนแบ่งการตลาดทางด้านเงินฝากอยู่ที่ 10% ธนาคารมีบริษัทในเครือซึ่งดำเนินธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจบริหารกองทุน และธุรกิจเช่าซื้อ เนื่องจากธนาคารมีสัดส่วนของเงินฝากและสินเชื่อในสัดส่วนที่ค่อนข้างใหญ่ มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารน่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในกรณีที่จำเป็น
ติดต่อ
Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4759
David Marshall, ฮ่องกง + 852 2263 9911
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน
- ๒๔ พ.ย. "เงินติดล้อ" ร่วมกับ CVC หนึ่งในผู้ถือหุ้น สนับสนุน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมรวมพลังสร้างฝายต้นน้ำพื้นที่ดอยตุง ฟื้นฟูความสมบูรณ์ให้กับต้นน้ำ
- พ.ย. ๒๕๖๗ ฟิทช์ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็น 'ลบ’ และคงอันดับเครดิต
- พ.ย. ๒๕๖๗ ฟิทช์ประกาศปรับลดอันดับเครดิตสากลของธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็น 'BBB+’ และปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น 'มีเสถียรภาพ’