กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไอส่งเสริมการลงทุน 7 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 25,993 ล้านบาท หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ค่ายฮอนด้าประเดิมลงทุนรถยนต์ประหยัดพลังงานรายแรก ยักษ์ใหญ่ ปตท. กับ ดั๊บเบิ้ลเอ เดินหน้าขยายการลงทุน
นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุนแก่โครงการลงทุนทั้งสิ้น 7 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 25,993 ล้านบาท
กิจการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (Eco-Car) ของ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นโครงการรวม (Package) ที่มีการประกอบรถยนต์ ผลิตเครื่องยนต์ และผลิตชิ้นส่วน เงินลงทุน 6,700 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการผลิตรถยนต์ของฮอนด้า 3,800 ล้านบาท และการผลิตชิ้นส่วนของฮอนด้าและผู้รับช่วงการผลิต 2,900 ล้านบาท มีกำลังการผลิต 120,000 คันต่อปี ขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,300 ซีซี ใช้น้ำมันไม่เกิน 5 ลิตรต่อ 100 กม. มาตรฐานมลพิษ EURO 4, ปล่อย Co2 ไม่เกิน 120 กรัม/กม.และมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยตามมาตรฐาน UNECE ตามแผนจะจำหน่ายในประเทศร้อยละ 50 และส่งออกไปยังตลาดในอาเซียน เอเชียแปซิฟิค และยุโรป ร้อยละ 50 โดยจะใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศร้อยละ 70 หรือปีละประมาณ 12,174ล้านบาท ตั้งโรงงานที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
กิจการตัดและแปรรูปโลหะแผ่น และผลิตชิ้นส่วนโลหะปั๊มขึ้นรูป ของบริษัท ทีที สตีล โปรเซสซิ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด มูลค่าเงินลงทุน 1,500 ล้านบาท มีกำลังการตัดและแปรรูปโลหะแผ่น ปีละประมาณ 1,100,000 ชิ้น และชิ้นส่วนโลหะปั๊มขึ้นรูปปีละ 4,400,000 ชิ้น เพื่อป้อนให้กับการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนของกลุ่มโตโยต้า โดยจะใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งสิ้น อาทิเหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น และเหล็กแผ่นเคลือบ มูลค่าปีละประมาณ 2,544 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จังหวัดฉะเชิงเทรา
กิจการผลิตกระดาษพิมพ์เขียนชนิดไม่เคลือบผิว ของบริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ เปเปอร์ จำกัด เงินลงทุน 7,500 ล้านบาท มีกำลังการผลิตปีละประมาณ 420,000 ตัน จำหน่ายในประเทศภายใต้แบรนด์ “DOUBLE A” ร้อยละ 30 และจำหน่ายในตลาดต่างประเทศที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 70 โดยจะใช้วัตถุดิบในประเทศ อาทิ เยื่อใยสั้น แป้งดัดแปลง มูลค่าปีละประมาณ 6,235 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่เขตอุตสาหกรรมบริษัท 304 อินดัสเตรียลปาร์ค จังหวัดปราจีนบุรี
กิจการผลิตเคมีภัณฑ์ BUTENE-1 และ PROPYLENE (ขยายกิจการ) ของ บริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เงินลงทุน 2,811 ล้านบาท มีกำลังการผลิต BUTENE-1 ปีละประมาณ 40,000 ตัน และ PROPYLENE ปีละประมาณ 71,000 ตัน โดยจะจำหน่ายในประเทศให้กับบริษัทในเครือ ปตท. ทั้งหมด ใช้วัตถุดิบในประเทศ อาทิ เอทิลีน และ MIXED C4 มูลค่ารวมปีละ 2,583 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง
กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือไอน้ำ ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เงินลงทุน 1,200 ล้านบาท มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 30 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 90 ตันต่อชั่วโมง โดยจะจำหน่ายให้กับ โรงกลั่นน้ำมันบางจาก จะใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งสิ้น คือก๊าซธรรมชาติ และน้ำ มูลค่าปีละประมาณ 653 ล้านบาท ตั้งภายในโรงกลั่นน้ำมันบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร
กิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือเดินทะเล ของ บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด เงินลงทุน 3,782 ล้านบาท ให้บริการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ ปีละประมาณ 1,750,000 ทีอียู โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท Hutchinson Port Holding Limited (HPH) ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจบริหารท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ 5 แห่งของโลก มีปริมาณขนถ่ายตู้สินค้ามากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งโครงการนี้จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของระบบขนส่งของไทย โครงการจะตั้งที่ท่าเทียบเรือ C1 และ C2 ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
กิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือเดินทะเล (ขยายกิจการ) ของ บริษัท มาบตาพุดแทงค์เทอร์มินัล จำกัด เงินลงทุน 2,500 ล้านบาท ให้บริการขนถ่ายสินค้าเหลวและก๊าซ ปีละประมาณ 5 ล้านตัน ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการขนถ่ายสินค้าเหลวและก๊าซภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเพิ่มขึ้น โครงการจะตั้งภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง
- พ.ย. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: เลี้ยงต้อนรับ ฯพณฯ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ
- พ.ย. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: เอสซีจี พาวิลเลียน ชูแนวคิด “อีโค่ พาวิลเลียน” คว้ารางวัลพาวิลเลียนยอดเยี่ยมอันดับ 1 บีโอไอแฟร์ 2011
- พ.ย. ๒๓๔๔ ภาพข่าว: กิจกรรม SETea talk (เซ็ท ที ทอล์ค) ผู้บริหารบจ.หมวดธุรกิจยานยนต์และอีเล็กทรอนิกส์