สุดยอด 8 หุ่นยนต์กู้ภัย ประกาศโชว์ฟอร์มคว้าแชมป์ประเทศไทย เครือซิเมนต์ไทย (SCG) เตรียมส่งชิงแชมป์โลกที่จีน

พฤหัส ๐๘ พฤศจิกายน ๒๐๐๗ ๑๖:๓๐
กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--เครือซิเมนต์ไทย
สุดยอด 8 หุ่นยนต์กู้ภัย ประกาศโชว์ฟอร์มคว้าแชมป์ประเทศไทย เครือซิเมนต์ไทย (SCG) เตรียมส่งชิงแชมป์โลกที่จีน พร้อมรวมพลทัพหุ่นยนต์กู้ภัยฝีมือเยาวชนไทย เป็นครั้งแรก
เครือซิเมนต์ไทย (SCG) ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดตัว 8 ทีม สุดยอดหุ่นยนต์กู้ภัย และทีมนิสิตนักศึกษาผู้ประดิษฐ์หุ่นยนต์ ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของการแข่งขัน หุ่นยนต์กู้ภัยชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย “Thailand Rescue Robot Championship” ทุกทีมประกาศคว้าแชมป์ พร้อมลงสนามประลอง 23-24 พฤศจิกายนนี้ ที่ MCC Hall เดอะมอลล์งามวงศ์วาน
นางมัทนา เหลืองนาคทองดี ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เครือซิเมนต์ไทย (SCG) เปิดเผยว่า SCG จัดการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทย หรือ Thailand Rescue Robot Championship ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว
เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนได้มีโอกาสแสดงศักยภาพ และความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม สำหรับปีนี้ มีผู้สมัครร่วมการแข่งขันถึง 79 ทีม จาก 33 สถาบันทั่วประเทศ จากการแข่งขันในรอบแรกซึ่งใช้เวลาถึง 5 วัน เพื่อคัดเลือก 8 ทีมสุดท้ายลงแข่งขันรอบชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ผลปรากฏว่าผู้เข้ารอบได้แก่ 1) ทีม CEO MISSION V 2) ทีม CEO MISSION IV จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 3) ทีม iRAP_TEAM 1 4) ทีม Ideal@2 5) ทีม Inchoation จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 6) ทีม Plasma-RX 7) ทีม Xiphias จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 7) ทีม Miracle มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ โดยทีมชนะเลิศจะเป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งขัน World Robocup Rescue ที่เมืองซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ในปีหน้า
ผศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย เปิดเผยว่า จากการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมการแข่งขันระดับโลก และคว้าแชมป์ถึง 2 ปีซ้อนนั้น ได้แสดงให้เห็นศักยภาพของเยาวชนไทยว่ามีความทัดเทียมกับประเทศที่มีความเจริญทางเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังทำให้วงการหุ่นยนต์ไทย ได้รับความสนใจและการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน เพื่อนำหุ่นยนต์มาต่อยอดใช้ปฎิบัติงานโดยเฉพาะด้านการรักษาความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ยังมีนโยบายที่จะผลักดันให้มีการประดิษฐ์หุ่นยนต์กู้ภัยประเภท Autonomous หรือหุ่นยนต์ที่ไม่ต้องมีคนบังคับ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตมนุษย์มากขึ้น
ดร.ถวิดา มณีวรรณ์ ประธานเจ้าภาพการแข่งขัน Thailand Rescue Robot Championship 2007 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึง กติกาการแข่งขันรอบสุดท้ายว่า จะใช้เวลาแข่งขัน 2 วัน โดยแต่ละทีมจะมีโอกาสทดสอบฝีมือ 2 ครั้ง เพื่อคัดเลือกให้ได้หุ่นยนต์ที่มีประสิทธิภาพจริงๆ ส่วนสภาพสนามจะมีความยากใกล้เคียงกับการแข่งขันระดับโลก นอกจากนี้เหยื่อเคราะห์ร้ายที่นำมาสาธิต จะมีสถานะหลากหลายขึ้น ทั้ง มีความร้อน เสียง การเคลื่อนไหว และระดับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งหุ่นยนต์ต้องแยกสถานะเหล่านี้ให้ได้ รวมทั้งจะต้องแสดงแผนที่ของการเคลื่อนที่ และระบุตำแหน่งของเหยื่อเคราะห์ร้ายได้อย่างถูกต้อง ตามข้อกำหนดมาตรฐานของ NIST (National Institute of Science and Technology)
นอกจากผู้ชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขัน World Robocup Rescue แล้ว ยังจะได้รับทุนการศึกษาจาก เครือซิเมนต์ไทย (SCG) เป็นเงินสด 200,000 บาท ส่วนรองชนะเลิศ จะได้รางวัลเงินสด 100,000 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลพิเศษ Best Technique และ Best Creativity สำหรับหุ่นยนต์เทคนิคยอดเยี่ยม และความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม รางวัลละ 50,000 บาท ทั้งนี้ 8 ทีม จะได้รับเงินสนับสนุนทีมละ 30,000 บาท เพื่อใช้ในการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อพิชิตรางวัลในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งจะจัดในวันศุกร์ และเสาร์ที่ 23-24 พฤศจิกายนนี้ ที่ MCC Hall เดอะมอลล์งามวงศ์วาน ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมและเชียร์ ฟรี
นอกจากนี้ ในวันนี้ เยาวชนจากสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศ ที่ได้ส่งผลงานหุ่นยนต์กู้ภัย เข้าแข่งขัน Thailand Rescue Robot ยังได้นำหุ่นยนต์กู้ภัยจากฝีมือการประดิษฐ์ของพวกเขา มาจัดแสดง ณ ลานเซ็นเตอร์ สยามสแควร์ เพื่อร่วมแสดงให้เห็นถึงความสามารถของเยาวชนไทย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหุ่นยนต์กู้ภัย เพื่อนำไปใช้งานได้จริงในอนาคต
Thailand Rescue Robot Championship โครงการประกวดหุ่นยนต์กู้ภัย เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคมที่เครือซิเมนต์ไทย (SCG) ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ ตั้งแต่ปี 2004 และส่งเข้าร่วมแข่งขันระดับโลกมาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมาทีมเยาวชนจากประเทศไทยสามารถคว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยมาได้ 2 สมัยซ้อน ทั้งนี้ SCG มีเป้าหมายที่จะสนับสนุน ส่งเสริมให้เยาวชนไทย พัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงสร้างโอกาสให้เยาวชนได้แสดงออกซึ่งความสามารถด้านนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้เป็นทั้งคนเก่งและดี และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ