กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--สวทช.
บริษัท คัฟเวอร์แนนท์ จำกัด ดึงงานวิจัยฯ ยกระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย พัฒนา “เสื้อกันยุง...สมุนไพร” รายแรกของโลก ภายใต้แนวคิดปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง —พึ่งพาตัวเองจากสิ่งที่มีอยู่ สร้างความเข้มแข็งจากภายในด้วยภูมิปัญญาและสมุนไพรไทย พร้อมหนุนนักวิจัยไทยพัฒนานวัตกรรมป้อนตลาดอย่างต่อเนื่อง รองรับความต้องการของโลกในอนาคต
ปัจจุบัน สมุนไพรไทยเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก เมื่อเรานำภูมิปัญญาไทย และสมุนไพรไทยมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่สกัดมาจากสารธรรมชาติ นอกจามูลค่าที่เพิ่มขึ้นแล้ว องค์ความรู้ที่ได้ยังก่อให้เกิด “นวัตกรรม” สร้างความต้องการ สร้างตลาดใหม่ สร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของการพึ่งตนเองแบบพอเพียง ดังตัวอย่างของ คุณวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท คัฟเวอร์แนนท์ จำกัด ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอครบวงจรตั้งแต่ปลายน้ำ ถึงต้นน้ำ ภายใต้แบรนด์ ‘Hydro-Tech’ และหนึ่งในผู้ประกอบการคลัสเตอร์เพชรเกษม กล่าวว่า บริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 และยอมรับว่าเพียง 5 ปี มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยปีแรกมีรายได้จาก 10 ล้าน ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านบาทภายในครึ่งแรกของปี 2550 ทั้งนี้เป็นผลมาจากแนวคิดที่ไม่เหมือนใคร
โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัยฯ ต่างๆ ที่คุณวิศัลย์ได้ให้ความสนใจอย่างมากและการมองอนาคตอยู่ตลอดเวลาว่า ต้องการให้บริษัทเดินไปสู่จุดไหน และวางกลยุทธ์ที่จะนำไปสู่จุดนั้นอย่างไร ซึ่งเป้าหมายก็คือ ธุรกิจตามแนวคิดตลาดบน ( บลูโอเชี่ยน ) คือ การผลิตสินค้าที่ไม่เหมือนใคร เป็นสินค้าใหม่ สร้างตลาดใหม่ และนวัตกรรมใหม่ ที่ยังไม่เคยมีใครคิดและผลิตมาก่อน เพื่อหนีจากตลาดล่างที่มักคิดผลิตแต่สินค้าเดิมๆ และแข่งขันกันด้านราคา
วิศัลย์ ยอมรับว่า “ตนเองเป็นคนที่ชอบคิดนอกกรอบ ทำให้มองเห็นสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ แม้จะเริ่มต้นธุรกิจมาได้ไม่นาน ค่อยๆ ก้าวจากศูนย์ที่ต้องเช่าตึกแถว และมีจักรเย็บผ้าเพียง 2 — 3 ตัวเท่านั้น จนปัจจุบันบริษัทได้ขยายกิจการออกไปเกือบครบวงจร ทั้งการ์เม้นท์ , โรงปัก , โรงย้อมสี และโรงทอผ้า ล่าสุดบริษัทยังจัดตั้งบริษัท วิจัยนวัตกรรมสิ่งทอ จำกัดขึ้น เพื่อรองรับการต่อยอดงานวิจัยเพิ่มอีก 1 แห่ง ซึ่งแนวคิดทั้งหมดนี้เป็นการนำเอาแนวคิดการทำธุรกิจและประสบการณ์ทางด้านการตลาดที่ได้จากอดีตที่เคยทำงานเป็นลูกจ้างประจำเครือซีเมนต์ไทย และบริษัทเท็กซ์ไทลส์แห่งหนึ่งมาทำธุรกิจเอง ทำให้เกิดมุมมองและแนวคิดที่ไม่เหมือนใคร เพราะเชื่อว่าผู้บริโภคยุคใหม่ไม่ใช่คนโง่ และยอมจ่ายในราคาที่แพงกว่าเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ดีกว่า จึงคิดผลิตสินค้าที่ตอบสนองตลาดใหม่ๆ ด้วยสินค้าที่ดีกว่าเดิม และไม่ต้องทำให้ผู้บริโภคกังวลถึงคุณภาพของสินค้าจึงกล้าที่จะลงทุนกับงานวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดสู่เชิงพาณิชน์ได้ และยังมาซึ่งความภูมิใจให้กับนักวิจัยไทยอีกด้วย”
กว่า 50 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีใครคิดหรือพัฒนาเส้นใยผ้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ประกอบการที่ต้องคอยยืมจมูกคนอื่นหายใจเชื่อว่าคงไม่สามารถไปถึงในสิ่งที่ต้องการได้ วิศัลย์จึงเห็นว่า ควรที่จะหันมาพึ่งตัวเองแบบพอเพียง คือ อะไรที่คิดทำเองได้ หรือ พึ่งพาตนเองได้ทำก่อน แล้วค่อยแบ่งปันคนอื่นต่อ บริษัทฯ จึงยินดีที่จะลงทุนสำหรับงานวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งใหม่ๆ แม้จะต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่ก็ถือว่าคุ้ม ยิ่งถ้าได้เงินสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐแล้วทำให้บริษัทมีความพร้อมยิ่งขึ้นจนได้รับฉายาว่า “ เจ้าพ่อ R&D” แห่งวงการสิ่งทอ
วิศัลย์ ยังกล่าวอีกว่า ตนนั้นไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ แต่เป็นนักธุรกิจที่จะมองไปในอีก 10 ปีข้างหน้าว่าความต้องการของคนยังต้องการอะไรหรือยังขาดอะไร และเราเองจะสร้างความต้องการใหม่ให้กับตลาดเพื่อสนองไลฟ์สไตล์ของโลกในอนาคตได้อย่างไรบ้าง และเป้าหมายของบริษัท คือ นวัตกรรม และนวัตกรรมนั้นเองที่นำมาสู่การสร้างแบรนด์ บริษัทจึงเริ่มจากการสร้างแบรนด์ ‘Hydro-Tech’ ซึ่งใช้เทคโนโลยีการผลิตเส้นใยต่างๆ ทำให้เสื้อมีคุณสมบัติพิเศษในป้องกันรังสียูวี ดูดซับเหงื่อได้ดี แห้งเร็วและปราศจากสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ที่สำคัญคุณสมบัติหลักเหล่านี้จะคงอยู่ถาวรเพราะทำในระดับเส้นใยผ้า โดยได้มีการเปิดตัวไปเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ล่าสุด บริษัทฯ ยังผลิต “เสื้อกันยุงจากสมุนไพร” ขึ้น จากแนวคิดที่ต้องการนำเอาภูมิปัญญาและสมุนไพรไทยที่มีอยู่หลายหมื่นชนิดที่มีคุณสมบัติในการจักยุงกัดมาใช้ประโยชน์ที่ยากจะเลียนแบบได้ จึงได้เลือกมาเป็นจุดขาย
สำหรับไอเดียเสื้อกันยุงสมุนไพรนี้ แม้ปัจจุบันต่างประเทศจะมีผลิตภัณฑ์ให้เห็นส่วนใหญ่ใช้สารเคมีเคลือบใยผ้า ก่อปัญหาเรื่องสารตกค้างและเด็กไม่สามารถสวมใส่หรือใช้ได้ ซึ่งการวิจัยนี้ต้องอาศัย “สหวิทยาการ” ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร ด้านแมลง ด้านสิ่งทอ และเทคโนโลยีไมโครเอนแคปซูเลชั่น ( Microencapsulation) จึงเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ “เสื้อกันยุงสมุนไพรไทยรายแรกของโลก” โดยบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอในการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเข้าร่วมโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP) ที่ได้จัดหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเป็นที่ปรึกษา และสนับสนุนเงินค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งให้กับบริษัทฯ ในโครงการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์เสื้อกันยุง
โครงการวิจัยนี้ เป็นการนำเอาสมุนไพร่ไทยที่มีคุณสมบัติกันยุงมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย และใช้เทคโนโลยีไมโครเอนแคปซูเลชั่นมาประยุกต์ใช้ในเสื้อผ่านกระบวนการ Finishing เพื่อกักเก็บสมุนไพรไว้บนเนื้อผ้า หรือให้เข้าใจง่ายๆ คือ เป็นการนำเอาสมุนไพรที่สกัดได้ใส่ในแคปซูลระดับไมโครแล้วเคลือบลงบนเนื้อผ้าและแคปซูลนี้จะค่อยๆ แตกตัวออก ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวแม้จะไม่ใช้เรื่องใหม่แต่ก็ยังไม่เคยมีการนำมาใช้กับสิ่งทอ โดยเฉพาะการนำสมุนไพรมาใช้เพราะส่วนใหญ่ใช้สารเคมี ส่วนการเลือกใช้เทคโนโลยีดังกล่าวต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ ความเป็นไปได้ในด้านของราคาและความเป็นไปได้ในการผลิตที่มีปริมาณมากๆ หรือ mass
นอกจากนี้งานวิจัยดังกล่าว ยังได้ผ่านการทดสอบจากสถาบันวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้วว่า สามารถป้องกันยุงกันได้จริง โดยการทดสอบครั้งแรกสามารถลดอัตราการกัดของยุงได้ถึง 90% และยังคงคุณสมบัติในการกันยุงได้แม้จะผ่านการซักไปกว่า 20 ครั้ง ซึ่งปัจจุบันเสื้อกันยุงสมุนไพรไทยเป็นที่ยอมรับจากองค์การอนามัยโลก หรือ WTO และได้เริ่มนำออกจำหน่ายในตลาดแล้ว
สำหรับโครงการต่อไป บริษัทฯ เตรียมต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ชนิดเติมได้ คล้ายกับน้ำยาปรับผ้านุ่มเพื่อเพิ่มสารกันยุงในเนื้อผ้า เพราะมีแคปซูลติดอยู่ในเสื้อใยผ้าอยู่แล้ว คาดว่า นวัตกรรมดังกล่าว จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์เดิมได้ไม่ต่ำกว่า 10% และในอนาคตบริษัทฯ ยังได้วางแผนขยายตลาดเสื้อกันยุงไปสู่อุตสาหกรรมทางการแพทย์ โดยพัฒนาเป็นชุดคนไข้ในโรงพยาบาล เนื่องจากเห็นว่าในโรงพยาบาลไม่สามารถฉีดสารกันยุงได้ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีแนวคิดที่จะนำเรื่องสมุนไพรไทยไปต่อยอดผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ เพิ่ม อาทิ เสื้อสำหรับช่วยเลิกบุหรี่ เป็นต้น
กรรมการผู้จัดการ บริษัท คัฟเวอร์แนนท์ จำกัด ได้กล่าวในตอนท้ายว่า “ นวัตกรรมคือสิ่งจำเป็นในการสร้างความเข้มแข็งให้กับการแข่งขันที่ยั่งยืน ดังนั้น .......ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องใส่เสื้อผ้า นวัตกรรมสิ่งทอก็ยังไม่หยุด ” ขณะที่ยังมีผลงานวิจัยดีๆ จากนักวิจัยเก่งๆ ของไทยที่สามารถต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ บริษัทฯ ก็จะไม่หยุดที่จะวิจัยฯ เพื่อให้ได้สิ่งใหม่ๆ ออกสู่ตลาดต่อไป
- พ.ย. ๒๕๖๗ AEC ปรับโครงสร้างธุรกิจยกระดับเป็นโฮลดิ้ง ทุ่ม180 ลบ.รุกลงทุน"ไทยสมายล์บัส-คัฟเวอร์แนนท์"
- พ.ย. ๒๕๖๗ AEC ควัก 180 ลบ. ลุยธุรกิจใหม่ ซื้อหุ้น "ไทย สมายล์ บัส - คัฟเวอร์แนนท์" รุกธุรกิจบัสโดยสาร-ผลิตเสื้อผ้าด้วยนวัตกรรม หนุนอนาคตยั่งยืน
- ๐๖:๔๒ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน "METALEX 2024" หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
- ๐๖:๔๒ กรุงไทย จับมือ อ.ส.ค. หนุนเกษตรโคนม เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ เสริมแกร่งอุตสาหกรรมโคนมไทย
- ๐๖:๔๒ กลุ่ม ปตท. และกลุ่มฯ โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ส.อ.ท. พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทย ด้วยพลังงานสะอาด และคาดการณ์ราคาน้ำมันในปี 68