กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน ประจำประเทศไทย
สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการไทย-เยอรมัน (GTZ) ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการธุรกิจลำไย นำเสนอ ลำไยอินทรีย์ และผลิตภัณฑ์จากลำไยอินทรีย์ ในงาน ANUGA 2007 งานแสดงสินค้าอาหารแบบครบวงจรที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในโลก จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ เมืองโคโลญน์ ประเทศเยอรมนี การจัดงาน ANUGA ในปีนี้ได้ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้นเรื่อยๆ การจัดงาน ANUGA ในปีนี้มีนักธุรกิจและผู้เข้าชมงานกว่า 160,000 คน จาก 160 ประเทศทั่วโลก
ผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์ มีขั้นตอนการเพาะปลูกและผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปราศจากการใช้สารเคมีและสารตกแต่งพันธุกรรมใดๆ (จีเอ็มโอ) ตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา ความต้องการบริโภคอาหารอินทรีย์ของโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะผู้บริโภคมีความใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ระมัดระวังการบริโภคอาหารที่มีสารตกค้าง และยังตระหนักถึงความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร
มร. เยือร์เกน คอคห์ ผู้อำนวยการ GTZ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า "การแนะนำลำไยอินทรีย์ และผลิตภัณฑ์จากลำไยอินทรีย์ในงาน ANUGA ครั้งนี้ เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการไทย-เยอรมัน เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจ โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาและส่งเสริมสินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย และให้ผู้ประกอบการธุรกิจลำไยอินทรีย์ของไทย ได้มีโอกาสแนะนำสินค้าและพบปะเจรจากับคู่ค้ารายใหม่จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25 ต่อปี ดังนั้นสินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยจึงมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก"
ในงาน ANUGA 2007 ประเทศไทยได้รับเชิญให้เป็น Partner Country เป็นครั้งแรกและประเทศแรกของโลก โดยได้จัดแสดงผลิตภัณฑ์อาหารไทย และสาธิตการทำอาหารไทย ภายใต้คำขวัญ "Thailand — Kitchen of the world" ในบริเวณ Thai Pavilion ซึ่งมีพื้นที่ถึง 2,000 ตารางเมตร โดยมีผู้ประกอบการด้านอาหารของไทยเข้าร่วมแสดงสินค้ากว่า 150 ราย
GTZ เป็นสำนักงานตัวแทนของรัฐบาลเยอรมันที่ดำเนินงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยปฏิบัติภารกิจในนามของกระทรวงต่างๆ ภายใต้รัฐบาลเยอรมัน รัฐบาลของประเทศต่างๆ และองค์กรนานาชาติ อาทิ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย รวมทั้งบริษัทเอกชนต่างๆ ในประเทศไทย GTZ ได้เข้ามาดำเนินงานเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว