นักวิชาการเตือนรัฐมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมด้านเดียวส่งผลคุณภาพชีวิตคนระยองดิ่งวูบ

พุธ ๑๐ ตุลาคม ๒๐๐๗ ๑๒:๑๑
กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--สช.
ในการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ครั้งที่ 1 “ปมปริศนาของการพัฒนากับสุขภาพของชาวระยอง ณ หอประชุม โรงเรียนวัดป่าประดู่ ต.ท่าประดู่ อ.เมือง จ.ระยอง
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่าจากการที่จังหวัดระยองเป็นส่วนหนึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อของโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ด จึงเกิดการเร่งรัดพัฒนาอุตสาหกรรม ทำให้จังหวัดระยองมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นจังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวของประชากรสูงที่สุดในประเทศ โดยในปี ๒๕๕๐ ผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวของจังหวัดระยองโดยเฉลี่ยอยู่ที่ ๘๕๐,๒๕๓ บาท ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ ๑๐๙,๔๔๐ บาทเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คุณภาพชีวิตของชาวระยองกลับไม่เติบโตตามไปด้วย โดยหากพิจารณาจากตัวชี้วัดทางสังคม พบว่า จังหวัดระยองมีอัตราผู้ป่วยเอดส์รายใหม่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศถึง ๕ เท่า หรือประมาณ ๑๕.๘ ต่อประชากรหนึ่งแสนคน ขณะที่ทั่วประเทศมีค่าเฉลี่ยที่ ๓.๓ คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน มีคดียาเสพติดที่จับกุม ๓๑๘ ต่อประชากรหนึ่งแสนคน ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ ๑๗๐ คน และเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับจังหวัดนครปฐมซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวในลำดับที่ ๑๑ จะพบว่า จังหวัดระยองมีอัตราเด็กกำพร้า เด็กถูกทอดทิ้ง และเด็กได้รับเชื้อ HIV มีคดีประทุษร้ายและคดียาเสพติดสูงกว่าจังหวัดนครปฐม รวมถึงมีสัดส่วนประชากรที่ไม่ได้รับการศึกษา และอัตราครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษสูงกว่านครปฐมอีกด้วย
นอกจากนี้ เมื่อนำดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index) ในรายงานการพัฒนาคน ปี พ.ศ.๒๕๕๐ ของโครงการพัฒนาของสหประชาชาติมาเป็นดัชนีเปรียบเทียบ ก็พบว่าจังหวัดระยองกลับมีดัชนีความก้าวหน้าของคนอยู่ในลำดับที่ ๙ มีดัชนีครอบครัวและชุมชน และดัชนีการมีส่วนร่วมอยู่ในเกณฑ์ต่ำ คืออยู่ในลำดับที่ ๕๙ และ ๕๗ ของประเทศ และที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น คือ จังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวสูงที่สุดของประเทศเช่นระยอง กลับมีดัชนีทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับปานกลาง หรืออยู่ในลำดับที่ ๒๔ ของประเทศ
“จากข้อมูลดังกล่าว จึงเป็นปรากฎการณ์ที่ชัดเจนว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวที่สูงที่สุดของประเทศ ไม่สามารถเป็นหลักประกันได้ว่าคุณภาพชีวิตของคนระยองจะดีขึ้นตามไปด้วย ในหลายตัวชี้วัด คุณภาพชีวิตของคนระยองอยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยของคนทั้งประเทศ แต่ในบางประเด็นตัวชี้วัด โดยเฉพาะมิติด้านสังคม จังหวัดระยองกลับต้องเผชิญกับปัญหาสังคมที่รุนแรงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศมาก ดังนั้น การมีผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวมากกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศหลายเท่าตัว จึงไม่ได้ช่วยให้คุณภาพชีวิตของจังหวัดระยองดีขึ้นตามไปด้วย” ดร.เดชรัต ระบุ
ดร.เดชรัตกล่าวด้วยว่าปัญหาสังคมที่เพิ่มสูงขึ้นในจังหวัดระยอง เกิดจากการไหลบ่าอย่างมากมายของแรงงานต่างถิ่น ทั้งชาวไทยและต่างด้าว โดยไม่มีการเตรียมการรองรับ ทำให้เกิดชุมชนใหม่ๆ ที่ไม่มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อชุมชนและการพัฒนาชุมชน เกิดความแปลกแยกทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ หากพิจารณาในแง่การลงทุนทางสังคมจะพบว่าระยองมีการลงทุนทางสังคมในเกณฑ์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ โดยเฉพาะรายจ่ายเฉลี่ยต่อหัวในด้านการศึกษา อยู่ที่ ๒,๔๙๕ บาท/หัว จากค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ ๓,๐๐๕ บาท/หัว ด้านการเคหะและชุมชน อยู่ที่๔๘ บาท/หัว จากค่าเฉลี่ยของประเทศที่ ๖๔ บาท/หัว ด้านศาสนา วัฒนธรรมและนันทนาการ อยู่ที่ ๓๗ บาท/หัว ขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศอยู่ที่ ๔๖ บาท/หัว
ดร.เดชรัต ชี้ว่าสาเหตุที่ทำให้ประชาชนจังหวัดระยองมีคุณภาพชีวิตสวนทางกับผลิตภัณฑ์มวลรวมนั้น มาจากนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วงเวลากว่า ๒๐ ปีที่ผ่านมา ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของจังหวัดระยองเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่มีระบบเศรษฐกิจสามขาที่สมดุลกัน คือ มีภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและเหมืองแร่ ภาคการค้าและบริการ ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน กลายเป็น “เศรษฐกิจขาเดียว” โดยภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัดถึงเกือบร้อยละ ๘๐ ขณะที่ภาคบริการและภาคเกษตรเหลือสัดส่วนเพียงร้อยละ ๑๘ และร้อยละ ๓ ตามลำดับ การเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้โอกาสในการพัฒนาจังหวัดกระจุกตัวอยู่เฉพาะในภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเท่านั้น จึงไม่สามารถเพิ่มโอกาสและยกระดับการพัฒนาประชาชนโดยรวมในจังหวัดได้อย่างที่หวังไว้
ผลการศึกษาดังกล่าวจึงนำมาสู่ข้อเสนอแนะในการปรับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดระยองใหม่ โดยสร้างความสมดุลในโครงสร้างเศรษฐกิจ และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนทางสังคม การศึกษา สุขภาพ วัฒนธรรม และสวัสดิการสังคม โดยต้องพิจารณาแนวทางในการลงทุนทางสังคมที่เกิดประสิทธิผลมากที่สุด
ด้านนายชาติชาย เหลืองเจริญ ผู้ใหญ่บ้านจำรุง อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งร่วมสัมมนาในกลุ่มย่อย “การพัฒนาระยองบนเส้นทางเศรษฐกิจพอเพียง” กล่าวว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของชาวระยองนั้นควรเน้นการพึ่งพาตนเอง ต้องประมาณกำลังหรือศักยภาพของตนเอง ไม่ทำอะไรเกินตัว ส่วนอาชีพเกษตรกรรมที่คนในพื้นที่ทำกันมาเนิ่นนานนั้น เนื่องจากสินค้าเกษตรราคาตกลงทุกปี จึงควรเน้นการแปรรูปสินค้าเกษตรภายในพื้นที่ เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้
นายนนท์ แสงจันทร์ จากมูลนิธิพิทักษ์เด็กและเยาวชน จังหวัดระยอง กล่าวในการสัมมนากลุ่มย่อย “เด็ก เยาวชน และประเด็นทางสังคมของระยอง” ว่าแนวทางการพัฒนาจังหวัดระยองนั้นใช้เศรษฐกิจเป็นตัวนำมาโดยตลอด ทำให้ละเลยการแก้ไขปัญหาสังคม ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ การนำเงินกองทุนที่ได้จากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อสังคม ไปใช้ในการรับซื้อราคามังคุดที่ตกต่ำ แนวทางการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมในจังหวัดระยองยังส่งผลกระทบต่อครอบครัว เพราะโรงงานหลายแห่งทำงานเป็นกะ ทำให้ระบบการใช้ชีวิตเสียไป เด็กๆ ถูกส่งไปอยู่กับปู่ย่าตายายซึ่งไม่มีศักยภาพในการดูแล ทำให้เด็กมีปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น รวมตัวกันก่อเหตุรุนแรง เกิดกรณีเด็กหายและถูกล่อลวงเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ เวทีดังกล่าวจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และมูลนิธินโยบายสุขภาวะ โดยมีประชาคมระยองทุกภาคส่วนเข้าร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ