กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา “อาหารเสริมและชีวภัณฑ์สำหรับสัตว์ปีก” ช่วยลดความเสี่ยงติดโรคระบาดจากเชื้อแซลโมเนลาในไก่และผลิตภัณฑ์จากไก่ มีคุณภาพตามมาตรฐานจุลชีววิทยา ปราศจากสารต้องห้าม ตกค้าง ปลอดภัยต่อผู้บริโภค สร้างความมั่นใจผู้ประกอบการส่งออกแข่งขันได้ในตลาดโลก
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า จากความสำเร็จของ วว.ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โพรไบโอติก …ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของไก่ ขณะนี้ วว.ได้ขยายขอบเขตการทดลองประสิทธิภาพของโพรไบโอติก สู่การใช้งานระดับฟาร์มทดลอง โดย วว.ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก บริษัท สหฟาร์ม จำกัด เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของโพรไบโอติก โดยให้ผลในด้านการเป็นสารเร่งการเจริญ หรือ Feed Additive เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน วว. ได้ดำเนิน “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อแซลโมเนลลาในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีก” ควบคู่กันไป เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ป้องกันการติดเชื้อที่สำคัญต่อการส่งออก เช่น เชื้อแซลโมเนลลา ลดผลกระทบต่อการส่งออกจากข้อกำหนดต่างๆของประเทศคู่ค้า เช่น สหภาพยุโรป
“...ที่ผ่านมา วว. ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและชีวภัณฑ์ที่สามารถใช้ร่วมกับโปรแกรมการจัดการความปลอดภัยสำหรับฟาร์ม (Biosecurity program) ตามมาตรฐานสากล อันได้แก่ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรฆ่าเชื้อ ผลิตภัณฑ์ Competitive Exclusion และ วัคซีนเชื้อเป็น ผลการศึกษาเบื้องต้นในระดับห้องปฏิบัติการและระดับฟาร์มทดลอง พบว่า ผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ชนิด มีประสิทธิภาพช่วยลดและป้องกันการติดเชื้อแซลโมเนลลาในไก่ได้ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรฆ่าเชื้อและผลิตภัณฑ์ Competitive Exclusion มีแนวโน้มที่ดีในการเป็นสารเร่งการเจริญเติบโตของไก่อีกด้วย ขณะนี้ วว.กำลังดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายในระดับฟาร์มขนาดใหญ่ ผลงานวิจัยและพัฒนาดังกล่าว จะเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการส่งออกไก่และผลิตภัณฑ์ให้สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อกำหนดของประเทศคู่ค้าได้...” ผู้ว่าการ วว.กล่าว
สำหรับอาหารเสริมและชีวภัณฑ์ทั้ง 3 ชนิดของ วว. เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ร่วมกันอย่างบูรณาการสำหรับเลี้ยงไก่ในระบบฟาร์มปิด เพื่อการส่งออก นับตั้งแต่ ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรฆ่าเชื้อ ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและฝ่ายเทคโนโลยีชีวภาพ โดยสารสกัดจากสมุนไพร 4 ชนิด คือ ตะไคร้ แมงลัก ไพล และพลู สำหรับเป็นสารเร่งการเจริญการเติบโต และสำหรับป้องกันและ/หรือลดการติดเชื้อแซลโมเนลล่า ผลิตภัณฑ์มี 2 รูปแบบ คือ สารสกัดที่เตรียมให้อยู่ในรูปผงแห้งใช้ผสมในอาหาร และสารสกัดที่อยู่ในรูปผงแห้งใช้ละลายในน้ำดื่ม โดยได้ใช้เทคนิค microencapsulation เพื่อช่วยเก็บรักษากลิ่น และป้องกันการสูญเสียของสารสำคัญในสมุนไพร ผลการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ในด้านการเป็นสารช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตในไก่เนื้อ ได้รับความร่วมมือจาก บริษัท สหฟาร์ม ลพบุรี ทดลองเบื้องต้นในระดับฟาร์มทดลอง พบว่า ผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มที่ดีในการเร่งการเจริญเติบโต และลดอัตราการสูญเสียของไก่เนื้อ ส่วนการศึกษาประสิทธิภาพในด้านการลด/ป้องกันการติดเชื้อแซลโมเนลล่าในไก่ ได้รับความร่วมมือจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเบื้องต้นพบว่าสารสกัดสมุนไพรของ วว. มีแนวโน้มในการลด/ป้องกันการติดเชื้อ Salmonella Enteritidis ในไก่ทดลอง ได้ดีใกล้เคียงกับยาปฏิชีวนะที่ใช้กันโดยทั่วไป ซึ่งในอนาคต วว. จะทดลองผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในระดับฟาร์มพาณิชย์ และศึกษาในด้านความคงตัวของผลิตภัณฑ์ เพื่อผลักดันให้นำผลิตภัณฑ์ไปสู่การใช้งานจริง
นอกจากนี้ ฝ่ายเทคโนโลยีชีวภาพ ยังพัฒนา “ผลิตภัณฑ์ Competitive Exclusion” หรือ CE ที่ประกอบด้วยกลุ่มเชื้อบริสุทธิ์ที่แยกได้จากไก่ที่มีสุขภาพดี แล้วนำมาเพิ่มจำนวนโดยใช้ถังปฏิกรณ์ชีวภาพ ภายใต้สภาวะพิเศษที่เหมาะสม ผลการทดสอบในห้องทดลอง พบว่า CE มีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อ Escherichia coli, Salmonella Typhimurium, S. Enteritidis, Campylobacter jejunii และ Clostridium perfringens ได้เป็นอย่างดี ผลิตภัณฑ์มี 2 รูปแบบ คือ ชนิดผงและชนิดน้ำ ผลการศึกษาเบื้องต้นถึงประสิทธิภาพของ CE ในการป้องกันการติดเชื้อ S. Enteritidis ในลูกไก่ในระดับห้องปฏิบัติการ พบว่า ผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพที่จะป้องกันไม่ให้ลูกไก่ติดเชื้อ S. Enteritidis ได้ดีกว่ากลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับผลิตภัณฑ์ 50-80% ของจำนวนไก่ทดลอง นอกจากนี้ผลการศึกษาในระดับฟาร์ม พบว่า CE มีประสิทธิภาพในด้านของการเป็นสารเร่งการเจริญไก่ มีผลการเลี้ยงที่ดี ทั้งในเรื่องของน้ำหนักตัว อัตราการแลกเนื้อ และค่าดัชนีผลการเลี้ยง ขณะนี้ วว.กำลังดำเนินการทดลองเพื่อยืนยันประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อแซลโมเนลลาของลูกไก่ในระดับฟาร์ม รวมทั้งการศึกษาความคงตัวของผลิตภัณฑ์ในสภาวะต่างๆ ต่อไป
ส่วน วัคซีน “เชื้อเป็น” เป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งในโครงการฯ ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ Salmonella ในไก่เนื้อและไก่ไข่ โดยวัคซีนที่พัฒนาขึ้น มี 2 ชนิด คือ “วัคซีนเชื้อเป็น” ที่ผลิตจากเชื้อ S. Typhimurium และจากเชื้อ S. Enteritidis ผลการทดลองโดยความร่วมมือจากกรมปศุสัตว์ พบว่า วัคซีนเชื้อเป็นสูตร Bio 5 และ สูตร Bio 11 จากเชื้อ S. Typhimurium เมื่อป้อนเชื้อเข้าทางปากให้ลูกไก่อายุ 14 วัน จำนวน 2 ครั้ง และหลังจากนั้นจึงให้เชื้อพิษทับ เพื่อดูความสามารถของวัคซีนในการสร้างภูมิคุ้มกันและการป้องกันไม่ให้ไก่ติดเชื้อของไก่ พบว่าวัคซีน Bio 11 มีประสิทธิภาพดีกว่า Bio 5 ในด้านการลดระยะเวลาและจำนวนไก่ที่ขับเชื้อพิษ การลดความรุนแรงของเชื้อพิษทับในการทำให้เกิดวิการที่อวัยวะต่างๆ รวมถึงความคุ้มโรคต่อเชื้อพิษทับโดยสามารถลดการเพิ่มจำนวนของเชื้อพิษทับในอวัยวะภายต่างๆ ส่วนผลการศึกษาเบื้องต้นด้านความปลอดภัยของ Bio 5 และ Bio 11 พบว่าไก่ที่ได้รับเชื้อ Bio 5 หรือ Bio 11 ไม่มีอาการป่วยหรือตาย รวมถึงเชื้อทั้งสองชนิดไม่มีผลต่อการเพิ่มน้ำหนักตัวของไก่ แสดงว่าทั้ง Bio 5 และ Bio 11 มีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง ต่อไป วว.จะได้ทำการศึกษายืนยันความปลอดภัยตามข้อกำหนดของ OIE ในระดับห้องปฎิบัติการ และทำการศึกษาประสิทธิภาพในการคุ้มโรคต่อไก่ทดลองทั้งในระดับห้องปฎิบัติการและระดับฟาร์มของวัคซีนทั้งสองสูตร
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โทร 0 2577 9000 ในวันและเวลาราชการ www.tistr.or.th E-mail:[email protected]
- ๐๐:๓๗ วว. / PCAARRD ประเทศฟิลิปปินส์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ พัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร
- ๒๔ ม.ค. วว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์นวัตกรรม "ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนาโนสำหรับสุขภาพผิวผู้ชาย จากสารสกัดมะม่วงหาวมะนาวโห่"
- ๒๔ ม.ค. วว./สวทช. จัด Workshop ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการไทย-ญี่ปุ่น ถ่ายทอดเทคโนโลยีพลังงานทดแทนให้ประเทศที่สาม มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของอาเซียน