กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (“บตท.”) รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง พร้อมกลับมาประกอบธุรกรรมเพื่อพัฒนาตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยจะมีการขยายธุรกรรมต่อเนื่องตามแผนระยะสั้นและระยะยาว หลังจากกระทรวงการคลังอนุมัติให้ ดร.ดวงพร อาภาศิลป์ ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการคนใหม่ของบตท. โดยเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน นี้เป็นต้นไป
คณะกรรมการ บตท. เปิดตัว ดร.ดวงพร อาภาศิลป์ กรรมการและผู้จัดการคนใหม่ ซึ่งได้เปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนา บตท. ตามแผนระยะสั้น บตท. จะเร่งกลับมาทำธุรกรรมแปลงสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักทรัพย์ โดยจะมีการออกพันธบัตรที่มีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์หนุนหลังอย่างน้อย 1-2 กองในปี 2551 คิดเป็นมูลค่า 800-1,500 ล้านบาท และจะทำธุรกรรมดังกล่าวต่อเนื่องในปีถัดไป และตั้งเป้าจัดซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยเข้ามาใหม่ในปี 2551 อีกประมาณ 800 - 2,000 ล้านบาท โดยจะพิจารณาจัดซื้อจากสถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบการที่สนใจ เพื่อจะได้นำมาแปลงเป็นหลักทรัพย์เสนอขายนักลงทุนต่อไป ทั้งนี้ บตท.จะมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อสนองความต้องการตลาด
นอกจากนี้ บตท. ยังจะเสนอบริการรับบริหารจัดการ SPV (Special Purpose Vehicle) ให้สถาบันที่แปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องในการปล่อยสินเชื่อของสถาบัน โดยขณะนี้องค์กรของรัฐที่แสดงความสนใจจะใช้บริการนี้ มีอาทิ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นต้น และจะเร่งสร้างพันธมิตรให้มากขึ้น ทั้งจากภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมมือกันขยายตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย รวมทั้งเสริมสร้างให้เกิดความเข้าใจในระบบตลาดรองฯ ให้มากขึ้น
สำหรับแผนในระยะยาว บตท. จะเพิ่มปริมาณธุรกรรมในแต่ละด้าน มีการขยายฐานพันธมิตร และจะเพิ่มบริการเป็น Credit Enhancer เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในตราสารให้นักลงทุน
ปัจจุบัน บตท.มีเงินลงทุนสินเชื่อที่อยู่อาศัย ประมาณ 2,200 ล้านบาท เป็นสินเชื่อที่มีคุณภาพดี และสามารถทยอยแปลงเป็นหลักทรัพย์เสนอขายนักลงทุนได้ สำหรับผลประกอบการของ บตท.นั้น มีกำไรจากการดำเนินการ ซึ่งหลังจากการเริ่มทำธุรกรรมใหม่ เชื่อว่าฐานะการเงินจะเข้มแข็งขึ้นตามลำดับ และ ด้วยความสนับสนุนจากกระทรวงการคลัง ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการบตท. ตลอดจนการเสริมสร้างทีมงานให้แข็งแกร่งภายใต้กรอบธรรมาภิบาล จะส่งผลให้ บตท. เป็นองค์กรที่สามารถสร้างประโยชน์ต่อสถาบันการเงิน ตลาดทุน ตลอดจนประชาชนผู้ต้องการมีที่อยู่อาศัย และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวม
- พ.ย. ๑๓๒๒ “คลังไฟเขียว ให้ขยายเงินกันกรณีไม่มีหนี้ผูกพันต่อถึงมีนาคม 2556 โดยอัตโนมัติ”
- พ.ย. ๒๕๖๗ 'NEWS' เฮ กระทรวงการคลังอนุมัติใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ พร้อมเดินหน้าธุรกิจ Fintech ตามแผน
- พ.ย. ๒๕๖๗ สรรพากรขยายเวลายื่นแบบฯ ให้ผู้ประกอบการทั่วไปสู้ COVID19
- พ.ย. ๒๕๖๗ เสริมแกร่ง ธพว. คลังเพิ่มทุนอีก 1,000 ล้าน เดินหน้าช่วยเหลือ SMEs ตามพันธกิจพัฒนาผู้ประกอบการ