กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--Connect PR
องค์กรภูมิแพ้โลกกำหนด 4 ธันวาคม เป็นวันโรคภูมิแพ้โลกประจำปี 2550 (World Allergy Day 2007) หวังกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวป้องกันโรคภูมิแพ้ หลังพบอัตราผู้ป่วยโรคภูมิแพ้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระบุตัวเลขผู้ป่วยทั่วโลกขณะนี้มีกว่า 300 ล้านคน เฉพาะคนไทยเป็นโรคภูมิแพ้ทะลุ 10 ล้านคน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปกิต วิชยานนท์ นายกสมาคมโรคภูมิแพ้ และอิมมูโนวิทยาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมนานาชาติด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันครั้งที่ 20 (World Allergy Congress 2007) ในระหว่างวันที่ 2-6 ธันวาคม ศกนี้ ทางองค์กรโรคภูมิแพ้โลก (World Allergy Organization) ได้ร่วมกับ Global Alliance Against Chronic Respiratory Diseases (GARD) ภายใต้องค์การอนามัยโลก เป็นเจ้าภาพจัดงานวันโรคภูมิแพ้โลกประจำปี 2551 โดยเน้นที่โรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจชนิดเรื้อรัง ซึ่งจากการศึกษาพบว่าโรคภูมิแพ้ในกลุ่มนี้มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้ป่วยอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีวัตถุประสงค์ในการให้ความรู้กับประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มการรับรู้และเอาใจใส่ เฝ้าระวังเกี่ยวกับโรค
“ในวันโรคภูมิแพ้โลกปีนี้ จะได้มีการนำเสนอผลรายงานใหม่ซึ่งจัดทำโดยองค์กรโรคภูมิแพ้โลก (World Allergy Organization) ในหัวข้อ “State of the World of Allergy: A Report from World Allergy Organization” ซึ่งจะมุ่งเน้นประเด็นของโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจชนิดเรื้อรัง ซึ่งได้แก่ โรคหอบหืด โรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือ โรคไซนัส ฯลฯ ซึ่งจากการศึกษาขององค์กรโรคภูมิแพ้โลก โดยการสำรวจผู้ป่วยในประเทศสมาชิกกว่า 30 ประเทศในปี 2549 พบว่าจากประชากร 1,200 ล้านคนมีผู้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ถึง 250 ล้านคนหรือร้อยละ 22 ของประชากรในประเทศที่ทำการสำรวจ และจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก มีประชากรโลกกว่า 300 ล้านคนได้รับความทรมานจากโรคหอบหืด และโรคภูมิแพ้เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วยกว่า 250,000 คนในปี 2548 อีกทั้งยังทำให้มีการใช้เงินรักษาถึง 20,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปี ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวและสังคม” ศ.นพ.ปกิต กล่าวและให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า
สำหรับในประเทศไทยเอง มีผู้ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งโดยเฉพาะในเด็ก 1 ใน 2 คนจะมีภาวะหรืออาการของโรคภูมิแพ้ และยังมีแนวโน้มที่จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งในระยะยาวจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และสภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวและสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม การประกาศวันโรคภูมิแพ้โลกในระหว่างการประชุมนานาชาติด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันครั้งที่ 20 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ จึงน่าจะมีส่วนในการรณรงค์ และกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงสาเหตุ และอันตรายของโรคภูมิแพ้ เพื่อจะได้เฝ้าระวังและป้องกันรักษาได้อย่างถูกวิธีต่อไป ในส่วนของการรณรงค์ของประเทศไทยนั้น ได้กำหนดให้สัปดาห์แรกของเดือน กรกฎาคมของทุกปี ให้เป็นวันโรคภูมิแพ้ของไทย ซึ่งทางสมาคมได้จัดกิจกรรมรณรงค์ และเสริมความรู้ให้ประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง
ด้านศาสตราจารย์ไมเคิล เอ. คาไลน์เนอร์ ประธานองค์กรภูมิแพ้โลก (World Allergy Organization — WAO) กล่าวว่า โรคภูมิแพ้เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุดของผู้ป่วยมราเข้ารับการรักษาปัจจุบัน พบว่ามีจำนวนมากกว่า 1.3 พันล้านคน หรือเท่ากับ 22% ของประชากรโลก แต่ทางองค์กรโรคภูมิแพ้โลก (WAO) มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้เพียง 15,500 คนหรือ 1: 16,000 คน ประกอบกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งของการก่อโรคภูมิแพ้ ทำให้แนวโน้มการเพิ่มของจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น
“ จากปัญหาที่ประสบ ทาง WAO ได้มีบทบาทในการแก้ปัญหา โดยขณะนี้ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ ให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้นและยังมีการฝึกฝนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการกำหนดมาตรการการรักษาในแต่ละประเทศ ลดการใช้สเตอรอยด์ในการรักษาและเน้นความคุ้มค่าในการรักษามากขึ้น อย่างไรก็ตาม โรคภูมิแพ้เริ่มมีความซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น ในขณะนี้ข้อกำหนดขอวการดูแลคนไข้ ยังคงตามความเจริญก้าวหน้าของโรค ดังนั้นทาง WAO จึงร่วมกันพิจารณาอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาให้ได้อย่างรวดเร็ว “ ศ.ไมเคิล เอ. คาไลเนอร์ กล่าว
อนึ่ง การประชุมวิชาการนานาชาติด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันจะมีขึ้นทุกๆ 2 ปี โดยประเทศสมาชิกซึ่งมีกว่า 70 ประเทศทั่วโลก จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ซึ่งภายในงานจะมีการนำเสนอผลงานวิจัยจากแพทย์ นักวิชาการ และ นักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน รวมทั้งการประชุมทางวิชาการเพื่อนำเสนอแนวทางในการพัฒนาการรักษาและป้องกันโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน โดยผู้สนใจรายละเอียดของการประชุมในครั้งนี้สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.wac2007.com
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
สาวิตรี ปึงเจริญกุล (081 816 4598)
ชัชสรัล (ป้อม) เทียมวัน (089 443 6886)
ลภัส ขวัญมงคล (084 399 2688)
ชฎาภรณ์ นำเอกลาภ (081 735 0696)