ซีพีเอฟปล่อยเนื้อไก่ปรุงสุกตู้แรกของไทยไปยูเออี หลังยูเออีปรับระบบการรับรองเครื่องหมายฮาลาลใหม่

พฤหัส ๐๖ ธันวาคม ๒๐๐๗ ๑๕:๕๑
กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--ซีพีเอฟ
เช้าวันนี้ ( 6 ธันวาคม 2550 ) ศ.ดร.ธีระ สูตะบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานปล่อยตู้คอนเทนเนอร์ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ปรุงสุกปฐมฤกษ์ เพื่อส่งออกไปสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ หรือ ยูเออี ณ โรงงานชำแหละและแปรรูปเนื้อไก่มีนบุรีของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ในโอกาสที่ บริษัท ซีพีเอฟผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เป็นบริษัทแรกของประเทศไทยที่ผ่านการรับรองเครื่องหมายมาตรฐานฮาลาล (HALAL) จากสภาเทศบาลยูเออี ให้สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ปรุงสุกไปยังยูเออีและประเทศในกลุ่มอ่าวอาหรับได้ ภายหลังจากคณะผู้เชี่ยวชาญยูเออี ได้ปรับระบบการรับรองมาตรฐานฮาลาลเงื่อนไขใหม่ และได้เข้ามาตรวจสอบระบบใหม่ในประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา โดยโอกาสเดียวกันนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์และผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ได้มอบใบรับรองการส่งออก Health Certificate และ Halal Certificate ให้แก่ซีพีเอฟ เพื่อเป็นเครื่องหมายในการบรรลุข้อตกลงทางการค้าภายใต้เงื่อนไขการรับรองดังกล่าวด้วย
ศ.ดร.ธีระ สูตะบุตร เปิดเผยถึงการได้รับการรับรองเครื่องหมายฮาลาลจากยูเออีในครั้งนี้ว่า นับเป็นการดีที่อาหารฮาลาลของประเทศไทยได้รับการยอมรับจากยูเออีและประเทศในกลุ่มอ่าวอาหรับ เนื่องจากประชากรมุสลิมทั่วโลกมีกว่า 1,800 ล้านคน มูลค่าการตลาดของอาหารฮาลาลสูงถึงประมาณ 5 แสน — 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ/ปี ขณะที่ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารสำคัญของโลก แต่ที่ผ่านมามีปริมาณการส่งออกอาหารฮาลาลเพียงร้อยละ 0.01 ของมูลค่ารวมในตลาดโลก โดยมีบริษัทที่ผลิตอาหารฮาลาลประมาณ 1,800 บริษัท และมีผลิตภัณฑ์ฮาลาลราว 20,000 ผลิตภัณฑ์ โดยในช่วงปี 2544-2547 พบว่าไทยได้ส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสัตว์ปีกไปยังตลาดดังกล่าว เฉลี่ยปีละประมาณ 2,300 ตัน เมื่อพิจารณาจากความต้องการของประเทศในตะวันออกกลาง การได้ผ่านการรับรองมาตรฐานฮาลาล จึงนับเป็นการเพิ่มโอกาสต่อการทำตลาดในกลุ่มประเทศดังกล่าวได้อีกมาก
ด้าน นพ.อนันต์ ศิริมงคลเกษม นายกสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า สภาเทศบาลยูเออี ให้การรับรองโรงฆ่าสัตว์ปีกของไทย 24 โรง และโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก จำนวน 36 โรง สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ปรุงสุก ซึ่งเป็นอาหารฮาลาลไปยังยูเออี รวมทั้งประเทศในกลุ่มอ่าวอาหรับได้ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2550 เป็นต้นไป ซึ่งซีพีเอฟเป็นบริษัทแรกที่บรรลุข้อตกลงทางการค้ากับผู้นำเข้าของยูเออี
นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ระบบการผลิตเนื้อไก่ของซีพีเอฟ มีการควบคุมตั้งแต่ต้นทางจนถึงการแปรรูปเป็นอาหารปรุงสุก ซึ่งโรงงานมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานตามหลักศาสนาอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นการเชือดไก่โดยมุสลิม หรือการแปรรูปเนื้อไก่โดยใช้วัตถุดิบที่ไม่มีของต้องห้ามตามหลักศาสนาอิสลาม และสามารถสะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานการให้การรับรองเครื่องหมายฮาลาลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (The Central Islamic Committee of Thailand) ได้ ผลิตภัณฑ์ไก่ปรุกสุกของซีพีเอฟจึงผ่านการตรวจประเมินการรับรองเครื่องหมายมาตรฐานฮาลาล วันนี้ ซีพีเอฟ ได้จัดปล่อยตู้คอนเทนเนอร์ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ปรุงสุกปริมาณ 64 ตัน คิดเป็นมูลค่าราว 10 ล้านบาท เพื่อเป็นตู้ปฐมฤกษ์ในการส่งออกไปยังตลาดยูเออีและกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) ซึ่งมีสมาชิกในตะวันออกกลาง จำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ ยูเออี ซาอุดิอาระเบีย การ์ตา คูเวต โอมาน และบาห์เรน
ทั้งนี้ ตลาดของยูเออีมีการนำเข้าสินค้าไก่ประมาณ 150,000 ตัน ซึ่งในส่วนของซีพีเอฟ แต่เดิมมีการส่งออกสินค้าไก่ไปอยู่แล้วทั้งไก่สดและไก่ปรุงสุก รวมประมาณ 3,000 ตัน ก่อนจะระงับไปเมื่อปี 2548 เนื่องจากทางสหรัฐอาหรับเอมิเรตต์ มีการเปลี่ยนแปลงระบบการรับรองเครื่องหมายฮาลาล ดังนั้น การที่ประเทศไทยผ่านการรับรองฮาลาลในเงื่อนไขใหม่นี้ จึงยิ่งเป็นโอกาสของประเทศไทยในการทำตลาดดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยคาดว่าในปี 2551 ซีพีเอฟจะสามารถทำตลาดส่งออกไก่ปรุงสุกไปยังยูเออีได้ถึง 3,000 ตัน
สำหรับตัวเลขการส่งออกไก่ของประเทศไทยในปี 2550 น่าจะอยู่ที่ 320,000 ตัน ในจำนวนนี้เป็นสินค้าของซีพีเอฟ 80,000 - 90,000 ตัน และคาดว่าอัตราการเติบโตในปี 2551 ตลาดรวมจะอยู่ที่ 5-10% และส่วนของซีพีเอฟ คาดว่าจะโตไม่ต่ำกว่า 15%
อนึ่ง โรงชำแหละและแปรรูปเนื้อไก่มีนบุรี ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เป็นโรงงานที่ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อไก่ และส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศมุสลิม โดยโรงงานแห่งนี้ ก่อตั้งตั้งแต่ปี 2521 บนพื้นที่ 49 ไร่ ของถนนสุวินทวงศ์ เขตมีนบุรี กรุงเทพ มีจำนวนพนักงานทั้งหมด 2,500 คน และกว่า 60% เป็นมุสลิม มีปริมาณการผลิตไก่ 200,000 ตัวต่อวัน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สำนักสารนิเทศ ซีพีเอฟ
0-2625-7344-5, 0-2631-0641, 0-2638-2713

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๑๕:๒๖ กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๑๕:๐๑ สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๑๕:๒๙ 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๑๕:๐๘ โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๑๕:๕๒ electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version