FED จะปรับลดดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุม 11 ธ.ค. นี้ และปรับลดอีก 2 ครั้งในปีหน้า

อังคาร ๑๑ ธันวาคม ๒๐๐๗ ๑๐:๔๕
กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
การประชุม FOMC ของสหรัฐฯที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 ธ.ค. 50 นับเป็นที่จับตามองของนักวิเคราะห์ทั่วโลก เนื่องจากเป็นการตัดสินใจท่ามกลางความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจชะลอตัวลงจนถึงขั้นเข้าสู่ภาวะถดถอยอันเป็นผลกระทบจากวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ลุกลามเข้าสู่ภาคการเงินของสถาบันการเงินทั่วโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและเงินดอลลาร์ที่เสื่อมค่าลง ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัย บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดว่า FED จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้น (FED Funds Rate) ลงอีกในการประชุมครั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาในภาคการเงินส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หลังจากธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของสหรัฐฯได้ปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ในบัญชีลงหลายพันล้านดอลลาร์เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาซับไพร์มในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯบางส่วนได้รับผลกระทบจากภาวะตกต่ำของตลาดที่อยู่อาศัยและภาวะตลาดสินเชื่อตึงตัว พิจารณาจากยอดขายบ้านใหม่สำหรับครอบครัวเดี่ยวเดือน ต.ค. 50 เพิ่มขึ้นเพียง 1.7% จากเดือนก่อนหน้า โดยราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยหดตัว 8.6% จากเดือน ก.ย. 50 และหดตัว 13% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการลดลงที่มากสุดในรอบ 26 ปีและรอบ 37 ปีเมื่อเทียบเป็นรายเดือนและรายปี ตามลำดับ ส่วนสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านที่ได้รับการอนุมัติมีจำนวนลดลง ส่งผลให้มีบ้านค้างสต็อกจำนวน 516,000 หน่วยซึ่งต้องใช้เวลา 8.5 เดือนจึงจะขายได้หมด สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจเดือน พ.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงแตะระดับ 87.3 ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 48 ดัชนีภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐฯ (ISM) เดือน พ.ย. ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 50.8 และ 54.1 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 10 เดือนและรอบ 8 เดือน ตามลำดับ หากดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 จะบ่งชี้ถึงภาวะหดตัวในภาคการผลิต ขณะที่ The National Association of Home Builders ระบุความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่ผ่านมาเติบโตถึง 4.9% (qoq) สูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 46 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากประสิทธิภาพการผลิตนอกภาคเกษตรหรือผลผลิตรายชั่วโมงต่อคนงานในไตรมาสเดียวกันเพิ่มขึ้น 6.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 4 ปี ส่วนยอดคำสั่งซื้อใหม่ของโรงงานเดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น 0.5% จากเดือนเดียวกันปีก่อน โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ด้านอุปกรณ์ป้องกันประเทศและการขนส่ง ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนที่สำรวจโดย ADP Employer Services เพิ่มขึ้น 189,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 50,000 ตำแหน่ง สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังมีการขยายตัวในบางภาคเท่านั้น ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะปรับลด FED Funds Rate ลงในการประชุมวันที่ 11 ธ.ค. นี้ แต่คาดว่าจะปรับลดเพียง 0.25% มาสู่ระดับ 4.25% เนื่องจาก FED ยังคงคำนึงถึงความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อควบคู่กันไป โดยในเดือน ต.ค. อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 3.5% จากเดือนเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 49
สำหรับการประชุมครั้งถัดไปในเดือน ม.ค. 51 คาดว่า FED ยังมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เนื่องจากผลกระทบของภาคอสังหาฯและวิกฤตสินเชื่อน่าจะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในปี 51 ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีบ้านจำนองครบกำหนดสัญญาต้องใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวกว่า 2 ล้านราย ประกอบกับสถาบันการเงินและบริษัทต่างๆ ทยอยประกาศผลประกอบการในช่วงต้นปี 51 ซึ่งจะสะท้อนว่ามีการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ในบัญชีสืบเนื่องจากปัญหาซับไพร์มอีกมากเพียงใด ทั้งนี้ OECD ประมาณการว่าสัญญาจำนองซับไพร์มราว 8.9 แสนล้านดอลลาร์จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยใหม่ในปี 51 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากราว 7.5 แสนล้านดอลลาร์ในปี 50 อีกทั้งได้คาดการณ์ว่าความเสียหายที่เกิดจากวิกฤตสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยให้แก่ลูกหนี้ซับไพร์มอาจมีมูลค่ารวมสูงถึง 3 แสนล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือน พ.ย. ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยุโรป และอังกฤษ ได้ระดมอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินและขยายระยะเวลาในการให้กู้ยืมจนถึงช่วงต้นปี 51 เป็นการสะท้อนถึงภาวะตึงตัวของตลาดสินเชื่อ (Credit Crunch) ที่ยังคงเป็นปัญหาที่ธนาคารกลางต่างๆให้ความสำคัญ ทั้งนี้ จากภาวะวิกฤตในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และการพิจารณาสินเชื่อที่รัดกุมขึ้น รวมทั้งการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ส่งผลให้ FED ปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 51 ลงมาอยู่ที่ระดับเพียง 1.8-2.5% จากเดิม 2.5-2.75% และลดคาดการณ์ Core PCE inflation ลงมาที่ 1.7-1.9% จากเดิม 1.75-2% การปรับลดประมาณการทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังคงอ่อนแอ ตลอดจนคำกล่าวของประธานและรองประธาน FED ที่แสดงความวิตกกังวลต่อตลาดสินเชื่อในขณะนี้ อีกทั้งยังมีความเห็นว่าธนาคารกลางต้องการความยืดหยุ่นและเตรียมพร้อมอย่างไม่มีข้อจำกัด ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ FED มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปเพื่อป้องกันมิให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอย
อย่างไรก็ตาม คาดว่า FED คงไม่ปรับลดดอกเบี้ยลงมากนัก เนื่องจากมีสัญญาณว่าความรุนแรงของปัญหาซับไพร์มน่าจะมีแนวโน้มบรรเทาลงภายหลังจากที่ทางการสหรัฐฯได้เข้ามาช่วยแก้ไขวิกฤตการณ์ในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพื่อให้เจ้าของบ้านรอดพ้นจากการถูกยึดทรัพย์ ด้วยการตรึงอัตราดอกเบี้ยเป็นเวลา 5 ปี ให้แก่ลูกหนี้กลุ่มที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (subprime) สำหรับสินเชื่อที่ทำระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 48 จนถึง 31 ก.ค. 50 ซึ่งจะมีกำหนดปรับเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวในช่วง 2 ปีครึ่งข้างหน้าถัดจากวันที่ทำสัญญา โดยทางการคาดว่าเจ้าของบ้านจำนวนมากถึง 1.2 ล้านรายจะได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการดังกล่าว นอกจากนี้ หากพิจารณาแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้งยุโรปและญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มว่ายังทรงตัวต่อไป โดยคาดว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม 4.0% ต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง จากภาวะเศรษฐกิจใน Euro Zone ซึ่งแม้จะมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงไตรมาส 4 จากปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและเงินยูโรแข็งค่าแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.49 ดอลลาร์/ยูโรซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาคส่งออก ทว่าอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ย. ที่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง 3.0% จากช่วงเดียวกันปีก่อนโดยเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 6 ปี และเป็นระดับที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย 2.0% ต่อปี ทำให้ ECB มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยที่ระดับเดิมหรืออาจปรับขึ้นได้หากเงินเฟ้อยังคงขยายตัวในอัตราเร่ง ทางด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบัน 0.50% อีกระยะหนึ่ง แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราสูงกว่าช่วงที่ผ่านมา อันเป็นผลจากภาคการผลิตและภาคส่งออกมีอัตราการเติบโตในเกณฑ์ดี ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือนเดียวกันปีก่อน แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการจ้างงานปรับลดลงมาสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี รวมทั้งการสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังมีความไม่แน่นอน ขณะที่ภาคการเงินของทั้งยุโรปและญี่ปุ่นอาจได้รับผลกระทบบางส่วนจากปัญหาวิกฤตสินเชื่ออสังหาฯในสหรัฐฯ
ฝ่ายวิจัยจึงมองว่าผลจากมาตรการของรัฐบาลสหรัฐฯในการช่วยเหลือลูกหนี้ซับไพร์ม ซึ่งน่าจะบรรเทาผลกระทบทำให้วิกฤตการณ์ในตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯคลายความรุนแรงลงบางส่วน ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯไม่ชะลอตัวลงรุนแรงเกินควร เมื่อประกอบกับแนวโน้มการทรงตัวของอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่น ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯน่าจะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ย FED Funds Rate ลงอีกไม่เกิน 2 ครั้งในช่วงครึ่งแรกปี 51 ทั้งนี้ หากมีการปรับลด FED Funds Rate ที่มากและรุนแรงเกินไปอาจส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงมากเกินควร และเมื่อประกอบกับราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอาจกดดันให้ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นผลร้ายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯได้
สำหรับผลกระทบของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ FED ต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยคงมีไม่มากนัก เนื่องจากการพิจารณาดอกเบี้ยของไทยน่าจะขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก โดยการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะช่วยทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การเร่งลงทุนในภาครัฐและการดำเนินโครงการ Mega Projects ในบางส่วน จะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนเร่งตัวขึ้นตาม ทำให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปี 51 ขยายตัวได้ในระดับ 3.0-3.8% และ 7.5-8.5% ตามลำดับ เมื่อผนวกกับอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน และการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการในประเทศหลายรายการ รวมทั้งสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากผลการออกพันธบัตรจำนวนมากของทางการเพื่อระดมทุนและชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จึงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะทรงตัวในระดับเดิมที่ 3.25% ในครึ่งปีแรก และมีแนวโน้มจะปรับขึ้นได้ในช่วงปลายปี 51 ตามภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ