กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--TCELS
TCELS โดยศูนย์วิจัยทางคลินิกนานาชาติ จับมือ องค์กรระดับโลก WHO-TDR เป็นเจ้าภาพจัดงานวันนัดพบนักวิจัยทางคลินิกมืออาชีพ หวังยกระดับให้ได้มาตรฐานสากล รองรับการพัฒนายาใหม่ ผอ.TCELS เผยผู้เข้าร่วมประชุมมีสิทธิได้รับทุนเข้าเป็นสมาชิกเพื่อสอบมาตรฐานนักวิจัยนานาชาติ
นายแพทย์ธงชัย ทวิชาชาติ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) กล่าวว่า ในวันที่ 14 ธันวาคม นี้ ศูนย์กลางการจัดการองค์ความรู้ด้านวิจัยทางคลินิกนานาชาติ (International Clinical Research Collaboration Center : ICRCC) ,WHO-TDR (Tropical Diseases Research) โดยการสนับสนุนของ TCELS ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน “วันนัดพบนักวิจัยทางคลินิกมืออาชีพ” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักวิจัยทางคลินิกจากทั่วประเทศประมาณ 150 คน มาระดมสมองถึงวิธีการที่จะยกระดับมาตรฐานการวิจัยทางคลินิกให้กับประเทศไทย และเพื่อให้นักวิจัยได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกันอันจะนำมาซึ่งการพัฒนาความรู้ด้านการวิจัยทางคลินิกต่อไป
ทั้งนี้ ภายในงานยังได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันต่าง ๆ อาทิ ดร.โทมัส แอล อดัมส์ (Dr.Thomas L. Adams) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมนักวิจัยนานาชาติ (Association of Clinical Research Professionals:ACRP) , นายเจมส์ แมช (James Mash) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท IDD (International Drug Development) ศ.นพ.ธีระ ศิริสันธนะ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.นพ.สุพรชัย กองพัฒนากุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ศ.นพ.จิตร สิทธิอมร ที่ปรึกษาโครงการ ICRCC ฯลฯ มาบรรยายให้นักวิจัยได้ฟังถึงการก้าวขึ้นสู่ความเป็นนักวิจัยมืออาชีพที่จะได้รับการยอมรับจากทั่วโลก
นายแพทย์ธงชัย กล่าวว่า ปัจจุบันนักวิจัยทางคลินิกในประเทศไทยมีอยู่จำนวนมาก แต่ต่างคนต่างทำงานไม่มีการรวมศูนย์ และผลักดันให้นักวิจัยเหล่านั้นยกระดับตัวเองให้เป็นนักวิจัยในระดับสากล คือการสอบมาตรฐานนักวิจัยนานาชาติ เพื่อรองรับการพัฒนายาใหม่ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจประเทศไทย ซึ่งจะทำให้คนไทยก็มีสิทธิเข้าถึงการรักษาก่อน แต่หากนักวิจัยไทยไม่ได้ติดอาวุธด้วยมาตรฐานที่ได้รับการรับรองระดับนานาชาติ ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ให้ความสำคัญในประเด็นนี้ ทุนที่มีจำกัดจากสถาบันต่าง ๆ ทั่วโลกที่ต้องการพัฒนายาใหม่ก็มีสิทธิ์เลือกนักวิจัยจากประเทศอื่น ๆ ประเทศไทยก็จะเสียโอกาสไป
“เป็นที่น่ายินดีว่า สมาคมนักวิจัยนานาชาติ (ACRP) ตั้งอยู่ที่รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา จะมาเปิดสนามสอบในภูมิภาคนี้เร็ว ๆ นี้ และอาจจะเป็นประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยทางคลินิกสอบการรับรองมาตรฐานการวิจัยระดับนานาชาติ ซึ่งหากสอบผ่านมาตรฐานตรงนี้ ก็จะได้รับการยอมรับในระดับสากล และสามารถส่งออกนักวิจัยไทยร่วมวิจัยกับสถาบันชั้นนำทั่วโลกได้ และในการประชุมครั้งนี้ นักวิจัยที่เข้าร่วมประชุมมีสิทธิได้รับการคัดเลือกรับทุนในการสอบมาตรฐานกับ ACRP ด้วย” ผอ. TCELS กล่าว