สบร. เปิดโครงการ “Tomorrow’s Musical Leaders” ครั้งแรกของเมืองไทย กับบัณฑิต อึ้งรังษี วาทยกรระดับนานาชาติ

พฤหัส ๑๓ ธันวาคม ๒๐๐๗ ๑๒:๕๑
กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--ART CORE
สบร. เปิดตัวโครงการ “Tomorrow’s Musical Leaders” ครั้งแรกของเมืองไทย กับการค้นหาวาทยกรในเอเชีย-แปซิฟิกจำนวน 6 ท่าน เพื่อร่วมมาสเตอร์คลาสกับบัณฑิต อึ้งรังษี วาทยกรไทยระดับนานาชาติ ที่จะมาถ่ายทอดความรู้ให้ เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ จนถึง 11 มกราคม 2551 ดำเนินโครงการโดย ART CORE ร่วมด้วย ม.เกษตร พันธมิตรหลักโครงการ และร่วมสนับสนุนโครงการโดย สยามดนตรียามาฮ่า สยามกลการ และการบินไทย
ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) ในฐานะผู้ริเริ่มและดำเนินโครงการ Tomorrow’s Musical Leaders เปิดเผยว่า “สบร. มีโอกาสร่วมงานกับคุณบัณฑิต อึ้งรังษี และได้พูดคุยกันถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ของวาทยกรไทย และการพัฒนาให้สู่ระดับสากล ซึ่งสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของ สบร. ในการส่งเสริมให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ภายใต้สโลแกน “รัก เรียน รู้ เล่นอย่างสร้างสรรค์” ทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน และดำเนินงานภายใต้โครงการ Tomorrow’s Musical Leaders หรือมาสเตอร์คลาสสำหรับวาทยกรระดับนานาชาติ โดย บัณฑิต อึ้งรังษี ประจำปี 2551 นับเป็นการถ่ายทอดศิลปะการเป็นวาทยกร ในระดับนานาชาติครั้งแรกของเมืองไทย กับการค้นหาวาทยกรรุ่นใหม่ เพื่อร่วมมาสเตอร์คลาสกับคุณบัณฑิต อึ้งรังษี ตลอดจนเกิดประโยชน์ในภาพรวมสำหรับวงการดนตรีคลาสสิคในประเทศ ซึ่งต้องขอย้ำว่าโครงการนี้ถือเป็นการสอนวาทยกรระดับนานาชาติครั้งแรกในประเทศไทย และเป็นโอกาสพิเศษในรอบปี กับการเข้าเรียนในมาสเตอร์คลาสตัวต่อตัวกับวาทยกรชาวไทยที่เป็นที่หนึ่งในระดับโลกอย่างบัณฑิต อึ้งรังษี ทั้งนี้ ผู้ที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ จะมีโอกาสได้ร่วมแสดงคอนเสิร์ตกับวงดุริยางค์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกด้วย”
รองศาสตราจารย์วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะพันธมิตรหลักของโครงการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความยินดี ที่ได้รับเชิญจาก สบร. ในการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการฯ โดยได้ร่วมสนับสนุนในด้านวงออร์เคสตร้าคือวง Kasetsart University Symphony Orchestra รวมถึงสถานที่ในการดำเนินโครงการฯ โดยทั้ง 4 วัน (4-7 กุมภาพันธ์ 2551) จะจัดให้มีขึ้น ณ หอประชุมสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งคาดว่าโครงการฯ นี้ จะพัฒนาทักษะให้แก่นิสิตแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงการพัฒนานักดนตรีในระดับเยาวชนด้วย”
นายบัณฑิต อึ้งรังษี วาทยกรไทยระดับนานาชาติ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ และวาทยกรผู้สอนในโครงการฯ กล่าวว่า “Tomorrow’s Musical Leaders นับเป็นงานที่สำคัญของผมงานหนึ่งในขณะนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสถ่ายทอดวิชาการเป็นวาทยกร กับการค้นหาวาทยกรดาวรุ่งในเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อเข้าร่วมมาสเตอร์คลาสในการเรียนรู้เทคนิคและเคล็ดลับในการเป็นวาทยกร เพื่อจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมวงการดนตรีคลาสสิกต่อไป โดยส่วนตัวแล้วมองว่าวงการดนตรีคลาสสิกในภูมิภาคนี้ มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น โดยโครงการ Tomorrow’s Musical Leaders นี้ นับเป็นโครงการปูทางและรองรับการเติบโตของดนตรีคลาสสิก ตลอดจนเป็นบันไดที่สำคัญของผู้ที่สนใจและตั้งใจที่จะเรียนรู้การเป็นวาทยกรในระดับสากล”
คุณบัณฑิตกล่าวเพิ่มเติมว่า การถ่ายทอดวิทยายุทธ์ในการอำนวยเพลง เป็นเรื่องที่หาดูได้ยากในโลก เพราะมีต้นทุนสูงคือต้องจ้างวงดนตรีทั้งวงให้เป็นเครื่องดนตรีของนักเรียนวาทยกร บทเรียนหรือเทคนิคต่างๆ ที่จะมานำเสนอใน “Tomorrow’s Musical Leaders” นั้น จะทำในลักษณะ Tailor-made โดยจะเป็นลักษณะการเทรนเฉพาะเจาะจงในแต่ละบุคคล โดยจะพิจารณาจากพรสวรรค์ที่เขามี และดูว่าสิ่งที่ขาดหายหรือควรปรับปรุง ตลอดจนเทคนิคต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ศาสตร์และศิลป์ของการเป็นวาทยกรนั้นถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ซึ่งวาทยกรจะเป็นมีพื้นฐานเป็นนักดนตรีที่ดี มีหูที่ดี มีรสนิยมในการสร้างสรรค์เสียงดนตรี และมีศิลปะในการใช้ไม้นำคนเกือบร้อยคน ฉะนั้น วาทยกรจึงจะต้องมีความเชื่อมั่นและมีภาวะของการเป็นผู้นำที่ดี และเชื่อว่าประสบการณ์และแนวทางการดำเนินชีวิตของตนเองจะเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยที่จะมุ่งสู่การเป็นคนไทย “ระดับโลก” เช่นกัน
นางสาวฉัตรติยา ไทยภิรมย์สามัคคี ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ ART CORE ในฐานะผู้ดำเนินโครงการร่วมกับ สบร. กล่าวว่า “โครงการฯ นี้ เราจะรับจำนวนจำกัดเพียงไม่เกิน 6 ท่าน (จากประเทศไทย 4- และจากเอเชียแปซิฟิก 2-) ผู้มีความสามารถด้านการเป็นวาทยกร ขอเชิญสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 11 มกราคม 2551 ดาวน์โหลดใบสมัครได้ทาง www.okmd.or.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร 02-664-0399 โดย 6 ท่านที่ผ่านการคัดเลือก จะได้ร่วมมาสเตอร์คลาสตลอด 3 วัน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ในระหว่างวันที่ 4 — 6 กุมภาพันธ์ 2551 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีการเรียนรู้ทั้งในลักษณะ Group Study และ One-on-One ร่วมกับวงออร์เคสตร้า และปิดท้ายโดยวาทยกรทั้ง 6 คนจะได้ร่วมแสดงคอนเสิร์ตจริงในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ผู้ที่สนใจเข้าชมมาสเตอร์คลาสและคอนเสิร์ตสามารถลงทะเบียนเข้าชมฟรีได้ นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำสารคดีโดยถ่ายทำตลอดโครงการฯ เพื่อเป็นประโยชน์ทางการศึกษาด้านดนตรีคลาสสิคในอนาคตอีกด้วย สำหรับ ART CORE นั้น เป็นองค์กรที่มุ่งสร้างสรรค์และดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับด้านศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะ ด้วยความเชื่อว่างานศิลปะและวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือที่พัฒนามนุษย์และทำให้สังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้น”
Note To Editor: โครงการ Tomorrow’s Musical Leaders หรือมาสเตอร์คลาสสำหรับวาทยกรระดับนานาชาติ โดย บัณฑิต อึ้งรังษี ประจำปี 2551 เป็นเวทีระดับสากลครั้งแรกของเมืองไทย ที่เปิดกว้างสำหรับผู้ที่มีดนตรีในหัวใจทุกท่านในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้เกิดมิติใหม่ในการเรียนรู้ด้านศาสตร์และศิลป์ทางการเป็นวาทยกร สร้างสรรค์โดยสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) ร่วมกับ ART CORE (Art Management) องค์กรที่เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการงานด้านศิลปวัฒนธรรม พันธมิตรหลักที่สนับสนุนโครงการ คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ร่วมสนับสนุนโครงการโดย บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด โรงเรียนดนตรีสยามกลการ และ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
เกี่ยวกับวาทยกร: วาทยกร (conductor) หรือผู้อำนวยเพลง คือคนที่ตีความหมายของบทเพลง โดยเห็นภาพรวมทั้งหมดของวงดนตรี มีหน้าที่ดึงความสัมพันธ์ของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นออกมาเพื่อสอดผสานรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยวาทยกร เป็นผู้ที่สื่อสารกับนักดนตรีด้วยภาษามือ เป็นเหมือนภาษาใบ้ที่ใช้กับดนตรี พร้อมกันนี้วาทยกรต้องมีความเป็นผู้นำที่สามารถให้ความเชื่อมั่นแก่นักดนตรีด้วย เสมือนผู้กำกับ ซึ่งควบคุมวงดนตรีโดยการใช้รหัส หรือสัญญาณมือ โดยถือไม้บาตอง (Baton) สำหรับให้จังหวะ วาทยกรจะพบในการแสดงดนตรีประเภทออร์เคสตร้า วงประสานเสียง และการบรรเลงดนตรี
สื่อมวลชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ART CORE (Art Management)
ทิพวรรณ วอทอง (โม) โทร. 081 421 2923 E-mail: [email protected]
สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.)
ชุติมา เต็มรังสี โทร. 02-264-5959 ต่อ 243 E-mail: [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ