กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--เอแบคโพลล์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประดิษฐ์ เถกิงรังสฤษดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพายัพ เผยว่า โครงการความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้เกิดขึ้นในโอกาสที่เอแบคโพลล์ กำลังเตรียมทำเอ็กซิทโพลล์ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน มหาวิทยาลัยพายัพโดยความร่วมมือทางวิชาการจากเอแบคโพลล์ จึงได้ทำการสำรวจโพลล์ก่อนวันเลือกตั้งเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ทั้ง 4 เขตขึ้น ซึ่งจะมีการนำเสนอ ต่อสื่อมวลชนทุกแขนงในวันที่ 23 ธันวาคม หลังปิดหีบเลือกตั้ง
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า การจับมือทำวิจัยร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยพายัพและมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญนั้นเป็นความร่วมมือทำวิจัยที่มากกว่าการทำโพลล์ เพราะขณะนี้เราเน้นที่การสร้างเครือข่ายวิจัยทางวิชาการ เปิดโอกาสเรียนรู้ร่วมกันของคณะผู้วิจัยและลดช่องว่างของข้อมูลในหมู่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ของสังคม
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้การทำโพลล์ยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศหลายด้านเช่น การศึกษา สังคมเศรษฐกิจและการเมือง เพราะนอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาเยาวชนมีส่วนร่วมในการทำโพลล์ ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แล้ว ยังสร้างประสบการณ์ทางวิชาการให้เยาวชนเหล่านี้ แล้วยังทำให้มีรายได้จุนเจือครอบครัวอีกด้วย ส่วนองค์กรสื่อมวลชนก็สามารถนำข้อมูลที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในการเผยแพร่ข่าวสารให้สาธารณชนทราบอีกด้วย
นอกจากนี้การทำโพลล์ยังช่วยลดความไม่สมดุลย์ของข้อมูลข่าวสารให้แก่สังคม เพราะถ้าไม่มีการทำโพลล์ ไม่มีผลโพลล์ สังคมจะได้รับเพียงข้อมูลข่าวสารจาก “ชนชั้นนำของสังคม” ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นส่วนตัว และ อาศัยประสบการณ์ตนเองชี้นำประชาชนด้วยอคติมากกว่าผลโพลล์เสียด้วย เพราะโพลล์เลือกตั้งมักจะทำให้ได้ภาพสะท้อนความคิดเห็นของคนทุกชนชั้น เมื่อไม่มีผลโพลล์ จึงทำให้ช่วงเวลา 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง กลายเป็นช่วงเวลาที่สาธารณชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากชนชั้นนำที่กลายเป็นผู้มีสิทธิพิเศษชี้นำเหนือประชาชนคนธรรมดาทั่วไป และถึงแม้ว่าจะมีบางสำนักข่าวไปสัมภาษณ์ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป แต่นั่นก็เป็นการเลือกสัมภาษณ์คนที่ไม่ใช้ระเบียบวิธีการเลือกที่ปลอดอคติเพราะเป็นการเลือกแบบเฉพาะเจาะจงหรือตามสะดวกเท่านั้น
สำหรับข้อสงสัยที่ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีข้อห้ามในการทำโพลล์ก่อนการเลือกตั้ง เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการชี้นำสังคมนั้น เมื่อพิจารณากฎหมายเลือกตั้งและการให้สัมภาษณ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในส่วนกลางแล้ว พบว่า กฎหมายไม่ได้ห้ามทำโพลล์ในช่วง 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง และกฎหมายก็ไม่ได้ห้ามทำโพลล์หน้าหน่วยเลือกตั้ง (exit poll) ในวันเลือกตั้งด้วย ซึ่งทางศูนย์วิจัยเอแบคฯ ก็ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการ การเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อย แต่ในการลงพื้นที่ในช่วงการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมา ปรากฎว่าทีมงานของศูนย์วิจัย ได้ประสบปัญหาไม่ได้รับความร่วมมือ ตลอดจนถูกข่มขู่ ซึ่งก็ขอแจ้งไปยังสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ได้รับทราบ และช่วยกระจายข่าวสาร สร้างความเข้าใจกับประชาชน และเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งต่าง ๆ เพื่อให้การสำรวจครั้งนี้เป็นไปได้ด้วยดี
“ทั้งนี้เราขอยืนยันว่าพวกเราทำงานด้านนี้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และต้องการทำโพลล์ให้เป็นต้นแบบที่ดีตามหลักวิชาการอย่างแท้จริง ส่วนความผิดพลาดคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้และพัฒนาต่อไป”
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่:
มหาวิทยาลัยพายัพ
โทร. 053-241-255 ต่อ 7151 , 7201
ศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
โทร. 02-7191546-49
- ม.ค. ๒๕๖๘ ภาพข่าว: สวัสดีปีใหม่
- ม.ค. ๒๕๖๘ ม.พายัพร่วมกับ เอแบคโพลล์ จัดแถลงข่าว เรื่อง การทำโพลล์ เลือกตั้ง ส.ส. 54
- ม.ค. ๒๕๖๘ ภาพข่าว: “กองทุนกู้ยืม”