กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--TCELS
ชูไทยเป็นต้นแบบโลกดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร เชื่อมโยงจากโครงการ Medical Hubเตรียมเปิดรับนโยบายรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ที่เห็นความสำคัญของการดูแลผู้สูงวัยหลังเกษียณให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นประชากรที่มีประสิทธิภาพ และพร้อมเปิดบ้านรับประชากรสูงวัยจากทั่วโลกมาดูแลสุขภาพในประเทศไทย เตรียมนำเสนอเป็นนวัตกรรมชีววิทยาศาสตร์ในเวทีเอเปกเร็ว ๆ นี้ที่ประเทศเปรู
นายแพทย์ธงชัย ทวิชาชาติ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) กล่าวว่า ในการประชุม APEC Life Sciences Innovation Forum (APEC LSIF) ที่จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ประเทศเปรูนั้น TCELS ในฐาะหน่วยงานประสานงานชีววิทยาศาสตร์ในกรอบเอเปก ได้ทำการเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสรรหานวัตกรรมด้านชีววิทย
ศาสตร์ที่โดดเด่นไปนำเสนอในที่ประชุมในครั้งนี้ ซึ่งในปีนี้จะนำเสนอนวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร ให้ที่ประชุมได้เห็นถึงความพร้อมในการพัฒนาระบบการส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ รวมทั้งมีความสุขในการดำเนินชีวิตในช่วงวัยหลังเกษียณ ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมในทุก ๆ ด้านที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงกับโครงการ Medical Hub ที่ประสบความสำเร็จจนเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก
นายแพทย์ธงชัย กล่าวว่า แนวโน้มผู้สูงอายุจะเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งจะเป็นปัญหาด้านสุขภาพและการจัดการของหลาย ๆ ประเทศ ดังนั้นสิ่งที่ TCELS มุ่งหวังคือ การเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาการดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร โดยสนับสนุนงานวิจัย และดึงเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อยืดประสิทธิภาพของร่างกาย ให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งขณะนี้มีได้มีการตั้งคณะทำงานที่ดูแลในเรื่องนี้แล้ว โดยเชื่อมโยงกับคณะกรรมการนโยบายผู้สูงอายุแห่งชาติ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และจะมีการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมกันอีกครั้งในวันที่ 24 มกราคม 2551 ที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นเวทีในระดับชาติ เพื่อเห็นชอบให้มีการนำเสนอวาระดังกล่าวในการประชุมในเวที APEC LSIF ซึ่งเป็นเวทีระดับโลกที่ประเทศเปรูต่อไป
ผอ.TCELS กล่าวด้วยว่า การดูแลผู้สูงอายุซึ่งจะเสนอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการนั้น จะเปิดกว้างทั้งการถ่ายทอดและเชื่อมโยงองค์ความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร ตลอดจนเปิดรับผู้สูงอายุจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมาดูแลสุขภาพในประเทศไทย โดยประเทศต้นสังกัดต้องดูแลค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่เกิดขึ้นเอง ซึ่งโดยปกติแล้วแต่ละประเทศจะมีงบประมาณตรงนี้อยู่ โดยเฉพาะประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย และประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งหากได้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลโดยตรงจะทำให้ผู้สูงอายุเป็นประชากรที่มีคุณภาพของโลก