กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--กทม.
นายธวัชชัย ปิยนนทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เปิดประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 1 (ครั้งที่ 2) ประจำปี พ.ศ. 2551 โดยมีนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานครร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร
นายประสิทธิ์ รักสลาม สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตวัฒนา ได้ตั้งกระทู้สดถามเรื่อง ขอทราบแนวทางดำเนินการกรณี ที่ไม่มีการเสนอรายงานผลการตรวจสอบอาคารภายใน 180 วัน ตามกฎกระทรวง เรื่อง กำหนดประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ พ.ศ.2548 และกฎกระทรวง เรื่อง กำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบ หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ และหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พ.ศ.2548 เนื่องจากผู้ประกอบการไม่ทราบข้อมูลและรายละเอียดเรื่องการตรวจสอบอาคารของ กรมโยธาธิการและผังเมือง อีกทั้งมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบมีอัตราไม่เท่ากัน ส่งผลให้เจ้าของอาคารไม่ทราบถึงขั้นตอนในการเรียกเก็บ ในส่วนผู้ที่ไม่ส่งรายงานผลการตรวจสอบ ซึ่งกำหนดโทษปรับไม่เกิน 60,000 บาท จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงอยากขอให้กรุงเทพมหานครขอขยายเวลาการตรวจสอบเพิ่มขึ้น
รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวชี้แจงว่า อาคารที่ต้องดำเนินการตรวจสอบมีทั้งหมด 9 ประเภท คือ 1. อาคารสูงเกิน 23 ม. หรือสูง 7 ชั้นขึ้นไป จำนวน 975 อาคาร 2.อาคารขนาดใหญ่พิเศษ มีเนื้อที่ 10,000 ตร.ม. จำนวน 2,426 อาคาร 3.อาคารอยู่อาศัยรวมหรืออาคารชุดจำนวน 4,244 อาคาร 5.สถานบริการ ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตร.ม. จำนวน 105 อาคาร 6.ป้ายบนดินและป้ายบนอาคาร 7.โรงแรมที่มีห้องตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป จำนวน 161 อาคาร และ8.-9.อาคารชุมนุมพลและมหรสพ จำนวน 317 อาคาร โดยขณะนี้มีอาคารที่ต้องได้รับการตรวจสอบทั้งสิ้น 5,380 อาคาร ส่วนอาคารที่อยู่อาศัยรวมหรืออาคารชุดนั้นได้รับการผ่อนผัน เนื่องจากมีระบบความปลอดภัยไม่ยุ่งยากซับซ้อน ปัจจุบันมีเจ้าของอาคารส่งผลการตรวจสอบแล้วประมาณ 2,937 อาคาร หรือคิดเป็น 54% นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้ทำหนังสือยื่นไปทางกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อพิจารณาขอขยายเวลาส่งผลการตรวจสอบออกไปอีก 180 วัน ทั้งนี้ในที่ประชุมสภามีมติเห็นชอบ แต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญทั้งหมด 17 คน เพื่อพิจารณา
ด้านนายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง เสนอญัตติต่อที่ประชุมสภา เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งรัดจัดหาที่ดินเพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงานเขตบางนา เนื่องจากปัจจุบันเป็นสำนักงานเขตชั่วคราว โดยขณะนี้เจ้าของตึกโดนศาลฟ้องล้มละลายและไม่มีความแน่นอนว่าจะได้เช่าต่อหรือไม่ จึงเห็นควรเสนอที่ดินของบริษัท บริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ตั้งอยู่ใกล้สี่แยกบางนาติดกับทางด่วนเฉลิมมหานคร แขวงบางนา เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 53.8 ตารางวา ในราคา 163.6 ล้านบาท โดยถ้าประเมินราคาตามราชการ จะอยู่ประมาณ 14 ล้านบาท ที่ประชุมมีการอภิปรายของ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครกันอย่างกว้างขวางถึงการหาสถานที่ให้สำนักงานเขตฯ ด้านนางสาวพรพิมล คงอุดม สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางซื่อ เสนอให้ปรับปรุงศูนย์เยาวชนของกรุงเทพมหานครในพื้นที่เป็นสำนักงานเขตบางเขน ซึ่งจะเป็นการประหยัดงบประมาณมากกว่า พร้อมกันนี้ในที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เลขานุการสภาฯ รวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อคณะผู้บริหารเพื่อพิจารณาในรายละเอียดต่อไป