กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--ม.มหิดล
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมฯ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย จัดโครงการสัมมนาพิเศษ เรื่อง “แนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงกับแนวคิดการพึ่งพาตนเองของมหาตมา คานธี” วันจันทร์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์ ชั้น ๒ อาคารภาษาและวัฒนธรรมสยามบรมราชกุมารี สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
รองศาสตราจารย์ โสภนา ศรีจำปา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า มหาตมาคานธีเป็นผู้ที่มีความโดดเด่นเป็นที่รู้จักของโลกในความเป็นผู้นำแห่งสันติวิธีหรือที่รู้จักกันในชื่อว่า “สัตยาเคราะห์" (Satyagraha) คานธีเป็นผู้ที่อยู่เหนือขอบเขตของกาลเวลาและสถานที่ ด้วยความตั้งใจของท่านที่อยากให้เศรษฐกิจของประเทศอินเดียโดยรวมเติบโตไปพร้อมกับคุณค่าของวัฒนธรรมและการที่ผู้คนไม่เห็นแก่ตัว ไม่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ในด้านวัตถุเป็นหลัก แต่ท่านกลับสนับสนุนการทำให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้น ท่านมีความคิดปฏิวัติในเรื่องการพึ่งพาตนเองโดยไม่พึ่ง “ผู้อื่น” โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ (ชาวชนบท) ไม่ถูกทอดทิ้ง ประเทศสามารถเจริญเติบโตได้ด้วยตนเองโดยปราศจากการควบคุมทั้งทางด้านวัตถุ (ความโลภ ความเห็นแก่ตัว) และทางด้านจิตใจ
ประเทศไทยนับว่าโชคดีที่มีองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน ”แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” พระองค์ท่านพระราชทานแนวคิดนี้ครั้งแรกแก่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๗ โดยมีข้อความที่สำคัญอย่างยิ่งตอนหนึ่งว่า
การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือความพอมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรละปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด …
และในช่วงที่ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งล่าสุดเมื่อปี ๒๕๔๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยและทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขบทความเรื่อง “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในทางเศรษฐกิจและสาขาอื่นๆ มาร่วมกันประมวลและกลั่นกรองพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งพระราชทานไว้ในวโรกาสต่างๆ รวมทั้งพระราชดำรัสอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาชนโดยทั่วไป เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ โดยมีใจความว่า
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลางโดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
(อ้างจาก สินธุ์ สโรบล “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” การเรียนรู้สู่สมดุล ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับงานวิจัยท้องถิ่น สกว. สำนักงานภาค, ๒๕๔๙: ๒-๔)
กรอบแนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่ และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็นโดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤต เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ๒๕๔๙ หน้า ๑๒ อ้างในเรื่องเดียวกัน หน้า ๕)
ทั้งสองแนวคิดนี้ต่างมีความคล้ายคลึงกันเป็นอย่างยิ่ง แนวคิดของท่านมหาตมา คานธีต้องการยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศให้ดีขึ้นซึ่งสอดคล้องกับโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการพัฒนาชนบท ซึ่งมีประมาณ ๔,๐๐๐ โครงการทั่วทุกภาคของประเทศ
แม้ว่าในปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปแล้ว แต่ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๑ จะครบ ๑๐๐ ปีของเมล็ดพันธุ์การแสวงหาสันติภาพด้วยสันติวิธีสัตยาเคราะห์ (Satyagraha) และครบ ๖๐ ปี อสัญกรรมของท่านมหาตมาคานธี สถาบันฯ จึงประสงค์ที่จะจัดสัมมนาเรื่องนี้ขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และยกย่องท่านมหาตมา คานธีบิดาของประเทศอินเดียและผู้นำของโลกท่านหนึ่งที่มีแนวความคิดที่คล้ายคลึงกันดังกล่าวซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นสากล แม้จะต่างกรรม ต่างวาระ และต่างสถานที่ก็ตาม หากได้สร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนชาวไทยได้เข้าใจปรัชญานี้อย่างถ่องแท้และนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลดีทั้งต่อตนเอง สังคม ประเทศชาติและภูมิภาคต่อไป
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมฯ ร่วมกับ สถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย จัดโครงการสัมมนาพิเศษ เรื่อง “แนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงกับแนวคิดการพึ่งพาตนเองของมหาตมา คานธี” วันจันทร์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ เวลา ๐๙.๐๐ — ๑๕.๐๐ น. ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์ ชั้น ๒ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท อาคารภาษาและวัฒนธรรมสยามบรมราชกุมารี สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่พระเกียรติยศและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้รู้จักมาก ขึ้น และเผยแพร่แนวคิดของ มหาตมา คานธี ให้ชาวไทยได้รู้จัก เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถประยุกต์ใช้แนวคิดเหล่านี้ในทางสร้างสรรค์ทั้งในชีวิตประจำวันและในสังคมให้มากขึ้น เพื่อเป็นการเผยแพร่งานวิชาการด้านอินเดียศึกษา ของสถาบันฯ ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อสร้างเครือข่ายและกระชับความสัมพันธ์กับเครือข่ายในระดับต่างๆ ทั้งฝ่ายไทยและอินเดียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเพื่อประมวลผลการสัมมนาเป็นองค์ความรู้ในด้านการศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดของผู้นำทั้งสองประเทศไว้สำหรับเป็น แนวทางการศึกษา วิจัยต่อไป
พิธีเปิด โดย ฯพณฯ Ms. Latha Reddy เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย และ ศาสตราจารย์คลินิก ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ต่อด้วยการแสดงปาฐกถา เรื่อง “แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เสรี พงศ์พิศ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ประธานมูลนิธิหมู่บ้าน และผู้อำนวยการโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต, บรรยาย เรื่อง “แนวคิดการพึ่งพาตนเองของมหาตมา คานธี” โดย นายนารยัน เดซาย ลูกชายเลขานุการมหาตมา คานธี จากประเทศอินเดีย, เสวนา โดย ภิกษุณีฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์, ศาสตราจารย์ ดร.ศรีสุรางค์ พูนทรัพย์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรพัฒน์ ประพันธวิทยา, รองศาสตราจารย์ ดร.จุฑาทิพย์ อุมะวิชนี และ รองศาสตราจารย์ ดร.อมรชีพ โลจัน ปิดท้ายด้วยการฉายภาพยนตร์ที่ยังไม่เคยฉายที่ใดมาก่อนจากสถานทูตอินเดีย เรื่อง “Gandhi Live”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร.๐-๒๘๐๐-๒๓๐๘-๑๔ www.lc.mahidol.ac.th
- ม.ค. ๒๕๖๘ ม.มหิดล-สถานทูตนอร์เวย์เตรียมเปิด'ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมไทย-เมียนมา'
- ม.ค. ๒๕๖๘ ม.มหิดล จัดทำฐานข้อมูลดิจิทัลเอกสารโบราณเพื่อการอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทในภาคกลาง
- ม.ค. ๒๕๖๘ ม.มหิดล ส่งเสริมการใช้ภาษาและวัฒนธรรม เปลี่ยนโลกที่แตกต่างสู่ความเป็นหนึ่งเดียว ด้วยนวัตกรรมMU Thai Test