กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ย้ำผู้ประกันตนที่ ถูกเลิกจ้าง ออกจากงาน สำนักงานประกันสังคมให้ความคุ้มครองต่อถึง 6 เดือน พร้อมแนะให้ยื่นสมัครมาตรา 39 เพื่อรับความคุ้มครองต่อภายใน 6 หากผู้ประกันตนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ และต้องการรักษาสภาพต่อต้องส่งเงินสมทบ(มาตรา 39) อย่างต่อเนื่อง
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง ออกจากงาน จะยังคงได้รับการคุ้มครองต่อจากประกันสังคม 4 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายไม่เนื่องจากการทำงาน และคลอดบุตร จะได้รับความคุ้มครองต่ออีก 6 เดือน โดยไม่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม นอกจากนี้ในระยะเวลาที่ผู้ประกันตนว่างเว้นจากการทำงานในช่วง 6 เดือนนี้หากผู้ประกันตนที่มีความประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อ สามารถยื่นแสดงความจำนงเพื่อสมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 ต่อ สปส. ภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนทั้งนี้ต้องเคย ส่งเงินสมทบมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 12 เดือน โดยผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายไม่เนื่องจากการทำงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตรและชราภาพ
“สำหรับสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ที่ไปทำงานต่างประเทศ ถ้าผู้ประกันตนเกิดอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นในกรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ในระหว่างอยู่ต่างประเทศ ผู้ประกันตนสามารถเข้ารักษาตัวในสถานพยาบาลต่างประเทศที่สะดวกได้ทันที ซึ่งผู้ประกันตนจะต้องสำรองเงินจ่ายไปก่อนและเก็บหลักฐานใบเสร็จเงินและใบรับรองแพทย์ไว้เพื่อมาเบิกคืนตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดความคุ้มครองไว้ภายใน 72 ชั่วโมงแรก หลังจากเดินทางกลับมาถึงแล้วผู้ประกันตนสามารถติดต่อขอรับประโยชน์ทดแทนได้ที่ สปส. ทุกแห่งที่สะดวก ส่วนในกรณีที่ผู้ประกันตนได้สำรองจ่ายไปเป็นเงินตราต่างประเทศในระหว่างการรักษาพยาบาล ทาง สปส. จะคำนวณจ่ายทดแทนคืนตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ณ วันที่สั่งจ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่ผู้ประกันตน สำหรับผู้ประกันตนที่ยังไม่ได้ยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนให้มายื่นขอรับสิทธิภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รับบริการทางการแพทย์”
นายสุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ประกันตนที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ไปทำงานต่างประเทศ หากประสงค์จะรักษาสภาพการเป็นผู้ประกันตนต่อ ต้องส่งเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าผู้ประกันตนขาดส่งเงินสบทบติดต่อกันเกิน 3 เดือน จะถูกตัดสิทธิการเป็นผู้ประกันตน สำหรับการส่งเงินสมทบจำนวน 432 บาทต่อเดือนให้กับสำนักงานประกันสังคมได้ถึง 2 วิธี คือ ส่งผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือการเปิดบัญชีประเภทออมทรัพย์และให้ทางธนาคารหักจากบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เช่นเดียวกันกับการส่งผ่านเคาน์เตอร์ พร้อมย้ำผู้ประกันตนที่ไปทำงานต่างประเทศควรศึกษาสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมและหมั่นตรวจสอบการนำส่งเงินสมทบของตนองอย่างต่อเนื่อง และขอความร่วมมือบริษัทจัดหางานช่วยประชาสัมพันธ์ต่อไปยังแรงงานภายในประเทศ และแรงงานที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศให้ได้ทราบสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม
หากผู้ประกันตนที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สายด่วนประกันสังคม 1506 ได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการหรือดูรายละเอียดได้ที่ www.sso.go.th
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วนประกันสังคม 1506 www.sso.go.th
- พ.ย. ๒๕๖๗ สปส.แนะผู้ประกันตนที่มีบุตรแรกเกิดถึง 6 ปี และส่งเงินสมทบครบ 12 เดือนขึ้นไป สามารถยื่นรับสิทธิสงเคราะห์บุตรได้
- พ.ย. ๒๕๖๗ สปส.แจงแนวปฏิบัติส่งลูกจ้างและผู้ประกันตนทุพพลภาพเข้าศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพฯ
- พ.ย. ๒๕๖๗ สปส.เตือนหากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล ของนายจ้างและผู้ประกันตน นายจ้างต้องรีบแจ้ง ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป