คสช. เดินเครื่องดันนโยบายสาธารณะลดผลกระทบสารเคมีทางการเกษตรอย่างจริงจัง

พุธ ๑๖ มกราคม ๒๐๐๘ ๑๔:๔๐
กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
คสช.เตรียมผลักดันนโยบายสาธารณะเพื่อลดผลกระทบจากการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช พร้อมจับมือหน่วยงานทั้งระดับชาติและพื้นที่ หลังภาครัฐไม่มีแนวทางชัดเจนในการดูแล ด้านผลวิจัยเผยเกษตรกรไทยอ่วมพิษสารเคมี แถมมีแค่ร้อยละ 20 ป่วยแล้วมาพบแพทย์
ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เมื่อเร็วๆ นี้ นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) มีมติให้หยิบยกประเด็นผลกระทบด้านสุขภาพจากสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชขึ้นมาพิจารณา เพื่อผลักดันเป็นนโยบายสาธารณะโดยใช้ยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ขับเคลื่อนทั้งนโยบาย การสร้างความรู้ และขับเคลื่อนพลังสังคม เชื่อมโยงกับสมัชชาสุขภาพ เพื่อให้เกิดพลังผลักดันนโยบายให้เกิดผลปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่ โดยบูรณาการการทำงานของหน่วยงานในระดับพื้นที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
“ครม. เคยมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอ 6 ข้อของคณะกรรมกรรมการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (คปรส.) ที่ได้มาจากสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศแล้ว เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2548 มอบให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการแล้ว แต่ในทางปฏิบัติไม่เกิดผลที่เป็นรูปธรรม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงได้หยิบยกประเด็นนี้เสนอให้ คสช. พิจารณาว่าควรดำเนินการอย่างไรหรือไม่เพื่อให้เกิดผลจริงในทางปฏิบัติ” นายแพทย์อำพลกล่าว
ในที่ประชุมกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้อภิปรายถึงปัญหาของการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชกันอย่างกว้างขวาง โดยเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญ และเป็นเรื่องใหญ่ มีความสลับซับซ้อนที่ต้องแก้ ทั้งระบบ ซึ่ง คสช.ที่เป็นผู้แทนจากองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่สะท้อนปัญหาทั้งเรื่องการใช้สารเคมีจำนวนมากเพื่อเร่งผลผลิตในการปลูกข้าวให้ได้ 3 ครั้งในแต่ละปี การใช้สารเคมีในอาหารทะเลหรือในการทำไร่กะหล่ำปลี ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าอาหารและพืชผักแต่ละชนิดส่วนใหญ่อาบไปด้วยสารเคมีที่เป็นอันตราย นอกจากนี้ยังตกค้างและปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมอีกจำนวนมาก
ด้าน คสช.จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่าปัญหาการใช้สารเคมีของเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ถูกต้อง ทั้งด้านปริมาณที่มากกว่ากำหนดและใช้ผิดประเภท โดยรัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติ
ทั้งนี้มี คสช. หลายท่านเห็นว่าปัญหาเหล่านี้เกิดจากการขาดความรู้และไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง อีกทั้งเกษตรกรไม่ได้รับการสนับสนุนให้มีทางเลือกอื่นๆ แทนการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ดังนั้นที่ประชุม คสช. จึงเห็นร่วมกันว่าต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยต้องใช้ข้อมูล ความรู้ และพัฒนาประเด็นข้อเสนอให้ชัดเจน เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง โดยเน้นเป้าหมาย 3 เรื่อง คือ เรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เรื่องอาหารปลอดภัย และเรื่องเกษตรปลอดภัย และเมื่อ คสช.เสนอแนะการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเรื่องนี้ต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว มีหน้าที่ต้องติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบ ซึ่งเป็นไปตามหน้าที่ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550
จากรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2549 ซึ่งจัดทำโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าปริมาณการนำเข้าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยระหว่างปี 2537-2547 ประเทศไทยนำเข้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่า และไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเผยว่าผลผลิตพืชเศรษฐกิจต่อไร่ที่เกษตรกรได้รับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงร้อยละ 2.5 ต่อปี แต่อัตราการใช้สารเคมีกลับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 13.2 ต่อปี
“การใช้สารเคมีที่มากมายเกินความจำเป็น นอกจากเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจของชาติแล้ว ความสูญเสียที่สำคัญคือผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของเกษตรกร รวมทั้งผู้บริโภค ซึ่งเป็นต้นทุนสุขภาพที่สังคมต้องจ่ายอย่างที่ไม่สมควร และพึงหลีกเลี่ยงได้ด้วยการควบคุมดูแลอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ” นายแพทย์อำพลเปิดเผย
ทั้งนี้สถิติผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารเคมีป้องกันจำกัดศัตรูพืชทั่วประเทศ จากรายงานการเฝ้าระวังโรคของกระทรวงสาธารณสุขในระยะ 10 ปีที่ผ่านอยู่ระหว่าง 3-4 พันคนต่อปี โดยผู้ป่วยร้อยละ 80 เป็นเกษตรกรและภาคเหนือครองแชมป์ตัวเลขผู้ป่วยสูงสุดติดต่อกันหลายปี อย่างไรก็ตามเชื่อว่าตัวเลขผู้ป่วยจริงจะสูงกว่านี้มาก เนื่องจากผลการศึกษาพบว่าเกษตรกรเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เมื่อป่วยแล้วจะมาพบแพทย์ และหากคิดเป็นต้นทุนสุขภาพของเกษตรกรรวมทั้งต้นทุนอื่นๆที่รัฐต้องสูญเสียไปเพื่อควบคุมและติดตามผลจากการใช้สารเคมีฯ คาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี ใกล้เคียงกับมูลค่าการนำเข้าปุ๋ยเคมีรวมกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในแต่ละปีของประเทศไทย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ภรนภา เหมปาละ(หนิง)
อีเมล์: [email protected], [email protected]
โทร.0 2590 2483

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version