กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--สช.
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดตั้งโครงการความร่วมมือเพื่อสนับสนุนนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพสำหรับคนอีสาน พร้อมเปิดกว้างชวนภาคีที่สนใจเข้าร่วมเป็นเครือข่าย
นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับ คณาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า นโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ(Health Public Policy :HPP) เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพที่นำไปสู่สังคมที่มีสุขภาวะ ทั้งนี้จะดำเนินการให้ประสบผลสำเร็จจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาคราชการ การเมือง ประชาสังคม และวิชาการ
“มหาวิทยาลัยขอนแก่นนับเป็นสถาบันหลักทางวิชาการโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน การได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาร่วมดำเนินการนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพร่วมกันถือเป็นการเชื่อมพลังที่สำคัญ เพราะที่อีสานมีทุนด้านความร่วมมือของภาคีจำนวนมากในพื้นที่เรากำลังมาต่อยอดทุนที่เรามีอยู่ ซึ่งผลดีที่จะได้คือการสร้างสุขภาวะที่ยั่งยืนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน” นายแพทย์อำพลกล่าว
รศ.ดร.ธาดา สุทธิธรรม คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าโดยทั่วไปคนอาจไม่เข้าใจว่าทำไมสถาปัตยกรรมศาสตร์จึงเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ จริงๆแล้วควรมองว่าการจะมีสุขภาพดีต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีทางกายภาพภายนอกด้วย ไม่ใช่การมองเฉพาะเรื่องสุขภาพกายภายในเท่านั้น ดังนั้นนักวิชาการหลายๆศาสตร์ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนองค์ความรู้ในการกำหนดนโยบายสาธารณะ
“แม้แต่นโยบายที่เราคิดว่าไม่น่าจะมีอะไร เช่นการขุดลอกคลองระบายน้ำ แต่ปรากฏว่าเมื่อขุดลอกแล้ว พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์หายหมด เป็นการทำลายระบบนิเวศน์ ฝ่ายวิชาการต้องเข้าไปช่วยเชื่อมโยงระหว่างภาคประชาชน และภาครัฐ โดยเราต้องให้ความรู้กับทั้งสองฝ่าย”
รศ.ดร.สุจินต์ สิมารักษ์ อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นระบุว่ากระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะที่ผ่านมาในประเทศไทย ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากประชาชน ทั้งกระบวนการสร้างและตัวผู้สร้าง เป็นการนำมาจากภายนอกซึ่งที่ผ่านมาพบว่าหลายประเด็นไม่ใช่นโยบายสาธารณะที่ดี และผลกระทบจะตกอยู่ที่ประชาชน แต่ที่ดูเหมือนว่ามันไม่เกิดผลกระทบในทันทีกับประชาชนเพราะการรับรู้หรือความสามารถในการคาดการณ์ผลกระทบของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนจะรู้ก็ต่อเมื่อมันมาถึงตัวแล้ว และยังถูกผูกพันกับความคิดว่าทุกอย่างรัฐต้องหาให้ ต้องคอยแก้ปัญหาให้
“เราต้องระวัง เพราะจากนโยบายสาธารณะที่ไม่ดี เมื่อถึงจุดที่เราไปไม่รอดมันจะวิกฤต ประเทศไทยกำลังถึงจุดวิกฤตอันเป็นผลจากนโยบายสาธารณะที่ไม่ดี ถ้าแก้ไม่ได้มันจะเป็นจุดวิกฤตที่เสถียร ดังนั้นทุกฝ่ายรวมทั้งประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่เราเริ่มจากเราเอง เป็นของเราเองไม่ได้มาจากคนอื่น เราจึงจะสามารถแก้ผลกระทบที่เกิดขึ้นได้”
ทั้งนี้ผลการประชุมได้ข้อสรุปที่จะร่วมกันดำเนินโครงการความร่วมมือเพื่อสนับสนุนนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพสำหรับคนอีสาน โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา ซึ่งมีบทบาทในการเป็นตัวกลางเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายในพื้นที่ภาคอีสาน
- ๖ พ.ย. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข จับมือ โรช ไทยแลนด์ ลงนาม MOU หนุนการพัฒนาระบบสุขภาพให้ชาวไทย
- ๖ พ.ย. ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ร่วมกับ สวรส. เผยผลวิจัยความเสี่ยงของการถ่ายทอดเชื้อทางโลหิตบริจาค "ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย"
- พ.ย. ๒๕๖๗ เดินหน้าความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ประเทศไทย - อังกฤษ เตรียมพัฒนาแนวทางนำข้อมูลพันธุกรรมใช้ประโยชน์วิจัย วินิจฉัยรักษา ในไทย