ผลประกอบการธนาคารกรุงไทย

จันทร์ ๒๑ มกราคม ๒๐๐๘ ๑๑:๐๐
กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--บมจ. ธนาคารกรุงไท
บมจ. ธนาคารกรุงไทย ขอนำส่งงบการเงินเฉพาะกิจการก่อนการตรวจสอบของผู้สอบบัญชีธนาคารสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2550 พร้อมประกาศผลประกอบการและคำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร ดังนี้
คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร
รายงานฉบับนี้เป็นคำอธิบายการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในงบการเงินเฉพาะกิจการก่อนการตรวจสอบของผู้สอบบัญชี สำหรับปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2550
ภาพรวมผลประกอบการ
รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิ
ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิเท่ากับ 44,273 ล้านบาท ลดลง 2,088 ล้านบาท (ร้อยละ 4.50) จากปี 2549 เป็นผลมาจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยรับจากเงินให้สินเชื่อและเงินฝากลดลง โดยสาเหตุหลักเกิดจากอัตราดอกเบี้ยด้านเงินให้สินเชื่อปรับลดลงเร็วกว่าด้านเงินฝากในช่วงที่ดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง
อัตราผลตอบแทน (NIM)
อัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ ในปี 2550 เท่ากับร้อยละ 3.79 ลดลงจากปี 2549 ซึ่งเท่ากับร้อยละ 4.06 เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยลดลงในระบบเศรษฐกิจ
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย
ธนาคารมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในปี 2550 เท่ากับ 10,044 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 507 ล้านบาท (ร้อยละ 5.32) จากปี 2549 เนื่องรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้น 483 ล้านบาท (ร้อยละ 7.74) และ กำไรจากเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 53 ล้านบาท (ร้อยละ 4.67)
ค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ย
ธนาคารมีค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยในปี 2550 เท่ากับ 27,704 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,102 ล้านบาท (ร้อยละ 8.21) จากปี 2549 โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของธนาคาร
อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost-to-Income Ratio)
อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ ในปี 2550 เท่ากับร้อยละ 51.19 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 44.84 ในปี 2549 ตามสาเหตุหลักที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ
ในปี 2550 ธนาคารได้กันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 19,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,002 ล้านบาท (ร้อยละ 18.20) จากปี 2549 โดยในปี 2550 ธนาคารได้กันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 300 ล้านบาท ต่อเดือน และได้กันสำรองเพิ่มในระหว่างปีอีกจำนวน 15,900 ล้านบาท เพื่อให้ธนาคารมีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพียงพอตามเกณฑ์ IAS 39 ทั้งนี้ สำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญดังกล่าวได้รวมถึงการตั้งสำรองเผื่อความสูญเสียจากการลงทุนใน CDO (Collateralized Debt Obligations) ตามเกณฑ์การดำเนินการด้วยความระมัดระวัง (Prudent Banking Practice) ด้วยแล้ว
กำไรสุทธิ
ธนาคารมีกำไรสุทธิเท่ากับ 6,113 ล้านบาท ในปี 2550 ลดลง 7,685 ล้านบาท (ร้อยละ 55.70) จากปี 2549 จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น
สถานะทางการเงิน
เงินให้สินเชื่อรวม
ณ 31 ธันวาคม 2550 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อรวม (ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับและเงินให้สินเชื่อระหว่างธนาคารและตลาดเงิน) เท่ากับ 958,084 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31,815 ล้านบาท (ร้อยละ 3.43) จาก ณ 31 ธันวาคม 2549
สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs)
ธนาคารมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ 31 ธันวาคม 2550 จำนวน 96,084 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น จำนวน 6,392 ล้านบาท (ร้อยละ 7.13 ) จาก ณ 31 ธันวาคม 2549 การเพิ่มขึ้นของ NPLs ทำให้สัดส่วน NPLs (gross) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.22 ณ 31 ธันวาคม 2549 เป็นร้อยละ 9.53 ณ 31 ธันวาคม 2550 และสัดส่วน NPLs (net) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.26 ณ 31 ธันวาคม 2549 เป็นร้อยละ 6.89 ณ 31 ธันวาคม 2550
เงินฝาก
ธนาคารมีเงินฝาก ณ 31 ธันวาคม 2550 เท่ากับ 1,002,098 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33,817 ล้านบาท (ร้อยละ 3.49) จาก ณ 31 ธันวาคม 2549 โดยส่วนใหญ่เพิ่มจากเงินฝากออมทรัพย์
เงินกองทุน
ณ 31 ธันวาคม 2550 ธนาคารมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 96,408 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.41 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง ซึ่งสูงกว่าร้อยละ 4.25 ที่ธปท.กำหนด ส่วนเงินกองทุนรวมเท่ากับ 128,190 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 15.17 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง ซึ่งสูงกว่าร้อยละ 8.50 ที่ธปท. กำหนดเช่นกัน ธนาคารเชื่อว่า เงินกองทุนในระดับนี้ ทำให้ธนาคารมีความแข็งแกร่ง และสามารถขยายธุรกิจได้ตามแผน
ธนาคารขอเรียนชี้แจงเพิ่มเติมถึงผลกระทบจากนโยบายบัญชีการบันทึกเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วม ดังนี้
ธนาคารมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบันทึกบัญชีของเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมใน งบการเงินเฉพาะกิจการจากวิธีส่วนได้เสียเป็นวิธีราคาทุนในไตรมาสที่ 4/2550 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2550 เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดใหม่ของมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 44 โดยธนาคารได้ปรับปรุงย้อนหลัง งบการเงินที่แสดงเปรียบเทียบด้วย ทั้งนี้ เงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมที่แสดงอยู่ในงบการเงินเฉพาะกิจการนั้นบันทึกโดยใช้ราคาทุนเดิม (Historical Cost) เป็นราคาทุนเริ่มต้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าว มีผลกระทบทำให้เงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมและส่วนของผู้ถือหุ้น ที่แสดงไว้ในงบดุลลดลง 1,490.75 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนโยบายบัญชีดังกล่าวส่งผลต่อการแสดงรายการบัญชีที่เกี่ยวข้องกับเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมในงบการเงินเฉพาะกิจการเท่านั้น ไม่ได้มีผลกระทบต่อการจัดทำ งบการเงินรวมและปัจจัยพื้นฐานการทำธุรกิจของธนาคารแต่อย่างใด
ฝ่ายการบัญชี โทร. 0-2208-4726 - 30

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๕:๓๒ อาลีเพย์พลัสขยายเครือข่ายพันธมิตรด้านการชำระเงินเป็น 35 ราย เชื่อมโยงผู้ค้ากับนักท่องเที่ยวเข้าด้วยกันผ่านการชำระเงินบนมือถือ การขายของในแอปพลิเคชัน
๑๕:๓๙ ยกระดับบริการหลังการขายขึ้นอีกขั้นกับ Volvo Mobile Service เพียงนัดหมาย เราพร้อมให้บริการถึงหน้าบ้านคุณ
๑๕:๓๔ ประกาศราคาไทย HUAWEI Mate X6 สมาร์ทโฟนนแบบพับได้ระดับท็อป โฉบเฉี่ยวแต่แข็งแกร่ง พร้อมกล้องเพื่อการถ่ายรูปที่สมบูรณ์แบบ
๑๕:๒๔ มหัศจรรย์แห่งเฟสทีฟกลางลมหนาว ที่ห้างหรูในยุโรปของกลุ่มเซ็นทรัล
๑๕:๑๘ บี.กริม เพาเวอร์ ครองตำแหน่งเรตติ้งสูงสุด SET ESG Rating ระดับ AAA และอยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน 7 ปีซ้อน ตอกย้ำความมุ่งมั่นสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ควบคู่ความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม
๑๔:๐๑ ธนาคารกรุงเทพ สำรองเงินสดช่วงเทศกาลปีใหม่ 40,000 ล้านบาท แนะลูกค้าทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์
๑๔:๔๘ เที่ยวไทยสุขใจ ไทยพาณิชย์ โพรเทค มอบของขวัญปีใหม่ 2568 แจกฟรี! ประกันบ้านหรืออุบัติเหตุ 50,000 สิทธิ์
๑๕:๒๕ เจนเนอราลี่ ไทยแลนด์ ร่วมงานเลี้ยงการกุศล ส่งเสริมความเสมอภาคและโอกาสในสังคม
๑๕:๔๗ คณะผู้บริหารและพนักงาน ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล เยี่ยมชมโรงงาน 1NUO ที่ประเทศจีน
๑๔:๔๕ TFM เปิดแผนผลิตกุ้งยั่งยืน ดันไทยชิงโอกาสในตลาดโลก ชูนวัตกรรมอาหารสัตว์เศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน