กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) แจงหากผู้ประกันตนถูกเลิกจ้าง ออกจากงาน และว่างงาน ต้องขึ้นทะเบียนหางานที่สำนักงานจัดหางานภายใน 30 วันหลังถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน เพื่อรับสิทธิ
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง ออกจากงาน และว่างงาน ซึ่งส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน ต้องไปขึ้นทะเบียนหางานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ ทั่วประเทศภายใน 30 วันหลังถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน เพื่อรับสิทธิประโยชน์ในกรณีว่างงาน โดยกระทรวงแรงงานจะให้การช่วยเหลือในการบริการจัดหางานการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงานพร้อมทั้งรับเงินทดแทนกรณีว่างงาน ไม่ว่าจะถูกเลิกจ้างหรือลาออกก็ตาม และผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างยังได้รับความคุ้มครองต่ออีก 6 เดือน ใน 4 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ไม่เนื่องจากการทำงาน และคลอดบุตร
กรณีที่ผู้ประกันตนว่างงานเพราะถูกเลิกจ้างนั้น ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนในระหว่างว่างงานอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน ส่วนกรณีที่ผู้ประกันตนลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงานอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างที่นำส่ง เงินสมทบระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน
ผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง ออกจากงาน หรือว่างงาน จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการ เกิดสิทธิ คือ 1.ต้องขึ้นทะเบียนหางานที่สำนักงานภายใน 30 วันหลังจากถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน 2.มีความสามารถในการทำงาน และพร้อมที่จะทำงานที่เหมาะสมตามที่จัดหางานให้ 3.ต้องไม่ปฏิเสธการฝึกงาน 4.ต้องรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานไม่น้อยกว่า เดือนละ 1 ครั้ง 4.ผู้ว่างงานต้องไม่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากกรณีทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณีร้ายแรง ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง และได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่โทษสำหรับความผิดลหุโทษ 5.ต้องไม่ใช่ผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ 6.มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทน เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 นับแต่วันว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย 7.ไม่เป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39
นอกจากนี้ หากผู้ประกันตนประสงค์จะใช้สิทธิประกันสังคมต่อไป สามารถที่จะสมัครเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 ซึ่งเป็นลักษณะของการสมัครใจประกันตนต่อหลังจากสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยมีเงื่อนไขคือ ผู้ประกันตนต้องมีประวัติการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และต่อมาสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างและแจ้งความประสงค์เป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ โดยยื่นแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (สปส. 1-20) ด้วยตนเองภายในระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ออกจากงาน ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายประกันสังคมต่อไปรวม 6 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ไม่เนื่องจากการทำงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และชราภาพ โดยจ่ายเงินสมทบเดือนละ 432 บาท ซึ่งในอัตราเงินสมทบ 6% หรือคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 288 บาทต่อคนต่อเดือนนั้น เป็นเงินออมในกรณีสงเคราะห์บุตรและ เงินออมชราภาพ ซึ่งเงินส่วนนี้ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะได้รับคืนเมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และต้องสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนแล้ว
หากผู้ประกันตนที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สายด่วนประกันสังคม 1506 ได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการหรือดูรายละเอียดได้ที่ www.sso.go.th
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วนประกันสังคม 1506 www.sso.go.th
- ธ.ค. ๒๕๖๗ สปส.แนะผู้ประกันตนที่มีบุตรแรกเกิดถึง 6 ปี และส่งเงินสมทบครบ 12 เดือนขึ้นไป สามารถยื่นรับสิทธิสงเคราะห์บุตรได้
- ธ.ค. ๒๕๖๗ สปส.แจงแนวปฏิบัติส่งลูกจ้างและผู้ประกันตนทุพพลภาพเข้าศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพฯ
- ธ.ค. ๒๕๖๗ สปส.เตือนหากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล ของนายจ้างและผู้ประกันตน นายจ้างต้องรีบแจ้ง ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป