กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--ก.พลังงาน
ครม. มีมติแต่งตั้ง 7 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จากที่มีผู้สมัครรับการคัดเลือกทั้งหมด 64 ราย โดยผ่านเข้ารอบสัมภาษณ์ 13 คน เพื่อเข้ามาทำหน้าที่กำกับกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550
นายชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะรักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบและแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอดังนี้
1. นายชลิต เรืองวิเศษ สาขาพลังงานด้านไฟฟ้า อดีตผู้ว่าการ การไฟฟ้านครหลวง
2. นายนภดล มัณฑะจิตร สาขาพลังงานด้านก๊าซธรรมชาติ อดีตอธิบดีกรมเชื้อเพลิง กระทรวงพลังงาน
3. นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ สาขาวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4. นางพัลลภา เรืองรอง สาขาเศรษฐศาสตร์ ,คณิตศาสตร์บริหารนักวิชาการคลัง 9 จัดการ หรือการจัดการด้านพลังงาน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนารัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
5. นายจงเจตน์ บุญเกิด สาขาการเงินและการบัญชี รองกรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่การเงิน ธนาคารพัฒนารัฐวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
6. นายทักษิณ ลิ่มสุวรรณ์ สาขานิติศาสตร์ อดีตผู้ช่วยผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
7. นายศุภิชัย ตั้งใจตรง สาขาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม
จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
นายชวลิต กล่าวว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ เรกูเลเตอร์ ทั้ง 7 คน มีหน้าที่ในการให้ใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงานและทำหน้าที่ส่งเสริมให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและป้องกันการใช้อำนาจผูกขาด โดยคณะกรรมการกำกับฯ จะมีอำนาจในการสั่งการให้ผู้รับใบอนุญาต หรือผู้ประกอบกิจการพลังงาน หยุด หรือปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมที่เป็นการจำกัด หรือกีดกันการแข่งขัน รวมไปถึงให้ปรับปรุงเงื่อนไข พักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต
นอกจากนี้ยังสามารถออกคำสั่งแก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้ หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงาน ทั้งสายส่งไฟฟ้าและท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และที่สำคัญ คือ คณะกรรมการกำกับฯ ยังทำหน้าที่คุ้มครองผู้ใช้พลังงานให้ได้ใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณอัตราค่าบริการของกิจการพลังงานแต่ละประเภทภายใต้นโยบายและแนวทางของรัฐ รวมทั้งสามารถทบทวนอัตราค่าบริการได้ หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม หรือเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป
นายชวลิต กล่าวต่อว่า ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบกำหนดอัตราค่าบริการตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน กำหนดให้คณะกรรมการกำกับฯ ต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียด้วย ขณะเดียวกันคณะกรรมการกำกับฯ จะต้องเปิดเผยสูตร หรือวิธีการที่ใช้ในการคำนวณอัตราค่าบริการ หรือข้อมูลตัวแปรที่ใช้ในการคำนวณอัตราค่าบริการที่เป็นอัตราที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไปด้วย นอกจากนี้ยังดูแลมาตรฐานคุณภาพการบริการและความปลอดภัยในการประกอบกิจการพลังงานด้วย โดยมีอำนาจในการออกระเบียบ เพื่อกำหนดมาตรฐานทางวิศวกรรม และความปลอดภัยในการประกอบกิจการ รวมถึงมาตรฐานของอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงาน
จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการกำกับฯ จะเข้ามาเป็นองค์กรกลางในการตรวจสอบการประกอบกิจการพลังงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และโปร่งใส ขณะเดียวกันก็เป็นองค์กรที่ส่งเสริมการพัฒนาพลังงานของประเทศในระยะยาว