กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--สสวท.
เมื่อต้นปี พ.ศ. 2550 สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดทำ“ศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบตามแนวทาง สสวท.” ณ โรงเรียนอัครศาสน์วิทยา อ. ยี่งอ จ. นราธิวาส ตามโครงการเครือข่ายสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้เขตพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อ.จะนะ อ.นาทวี อ.สะบ้าย้อย และ อ.เทพา
การดำเนินงานโครงการเครือข่ายสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ สสวท. ปี 2550-2552 มี 3 ระยะ เริ่มจาก ระยะที่ 1 จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบที่โรงเรียนอัครศาสน์วิทยา จังหวัดนราธิวาส และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่อยู่ในความสนใจและเป็นความต้องการของครู นักเรียน และชุมชนเน้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมหรือ ETV เป็นหลัก เพื่อให้เยาวชนมีปฏิสัมพันธ์เรียนรู้กับโลกภายนอก ไม่อยู่ในระบบปิด และช่วยให้เข้าถึงข้อมูลได้กว้างขวาง เป็นการเปิด โลกทัศน์ไป พร้อมกัน
ระยะที่ 2 เป็นการขยายศูนย์การเรียนรู้ชุมชนไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ทั้ง 5 จังหวัด โดยประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้นำท้องถิ่น และหน่วยงานร่วมรับผิดชอบในพื้นที่ เพื่อคัดเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อมทางการให้บริการชุมชนและร่วมสนุบสนุนงบประมาณให้กับโรงเรียนในท้องถิ่น โดย สสวท. สนับสนุนการอบรม ให้คำปรึกษาเชิงวิชาการ และงบประมาณส่วนหนึ่ง รวมทั้งประสานงานกับภาคเอกชนขอรับการสนับสนุนงบประมาณอีกส่วนหนึ่งด้วย
ระยะที่ 3 เชื่อมโยงเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เพื่อจัดการศึกษาทางไกลเต็มรูปแบบ มีการจัดตั้งต้นทางปลายทาง เน้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ อาทิ Video Conference หรือ E-Learning ซึ่งต้องมีหน่วยงานในพื้นที่ให้ความร่วมมือแบบบูรณาการ
เมื่อช่วงวันที่ 11-14 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา ทีมงานจาก สสวท. จึงได้ลงใต้เพื่อไปสานต่อเรื่องดังกล่าว การเดินทางครั้งนี้ทีมงานได้ร่วมประชุมกับนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นากยกเทศมนตรีนคร ยะลา สรุปว่า เทศบาล นครยะลามีเป้าหมายพัฒนาการศึกษาอย่างชัดเจน
ในภารกิจครั้งนี้ สสวท. ได้ไปสำรวจโรงเรียนที่จะ ขยายผลจัดทำศูนย์การเรียนรู้เพิ่มเติมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ โรงเรียนปอเนาะอิสลามศาสน์ดารุจสาลาม อ. เมือง จ.ยะลา โรงเรียนดารุสสาลาม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส โรงเรียนปอเนาะบรอหัดฟัจรุลอิสลาม อามะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ. นราธิวาส โรงเรียนศาสนูปถัมภ์ และโรงเรียนบำรุงอิสลาม อ.เมือง จ.ปัตตานี โรงเรียนศาสนูถัมป์ อ. เมือง จ.ปัตตานี โรงเรียนอาถาวยะฮ อ.บันนังสตา จ.ยะลา โรงเรียนตัสดีกียะ อ.จะนะ จ.สงขลา
นอกจากนั้น สสวท. ได้จัดการบรรยายและแสดง Science Shows รวมถึงกิจกรรมคณิตศาสตร์ในสถานศึกษาต่าง ๆ ได้แก่ จัดแสดง Science Show วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมสนุกกับคณิตศาสตร์ที่ โรงเรียน อัครศาสน์วิทยา อ. ยี่งอ จ. นราธิวาส โดยมีนักเรียนชั้นประถมศึกษาและชั้น ม. 5 จากโรงเรียนอัครศาสน์วิทยาและดารุสสาลามเป็นผู้ร่วมกิจกรรม ประมาณ 200 คน
พร้อมกันนั้นได้จัดกิจกรรมเสริมความเข้าใจให้กับชุมชนท้องถิ่นของโรงเรียนอัครศาสน์วิทยา มีชาวบ้าน ครู ปราชญ์ท้องถิ่นร่วมกิจกรรมประมาณ 120 คน โดยมีการบรรยายเรื่อง “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับศาสนาอิสลาม” บรรยายและสาธิต Science Show วิทยาศาสตร์เพื่อให้ชุมชนทราบถึง เจตน์จำนงของ สสวท. ในการสร้างศูนย์การเรียนรู้ ICT ในชุมชนแห่งนี้ และความร่วมมือการใช้ประโยชน์ของชุมชนจากศูนย์นี้ให้เต็มศักยภาพ
จัดแสดง Science Show วิทยาศาสตร์ ที่ TK Park เทศบาลนครยะลา จ. ยะลา มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนในเขตเทศบาลนครยะลา และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณ 300 คน
กิจกรรม Science Show วิทยาศาสตร์ที่ สสวท. นำลงใต้ครั้งนี้มีหลากหลาย ได้แก่ สนุกกับการบิน เฮลิคอปเตอร์ลูกโป่ง พับเครื่องร่อน สนุกกับการแข่งขัน เป่าน้ำออกจากแก้วน้ำประกบกัน แก้วดูดน้ำ สนุกกับการเล่นไข่ ลูกโป่งกับความเย็นยะเยือก ฟองสบู่ ผลุบ ๆ โผล่ ๆ ตัวดำน้ำ เตียงตะปู ส่วนกิจกรรมคณิตศาสตร์ เช่น แฟนพันธุ์แท้เรขาคณิต จิ๊กซอว์ หกสหายพาเพลิน แปลงร่างเป็นท๊อฟฟี่
“หลังจากนี้ สสวท. จะคัดเลือกโรงเรียนที่ได้ไปสำรวจแล้วไว้ 3 แห่ง สำหรับจัดตั้งศูนย์สารสนเทศการเรียนรู้เพื่อชุมชนก่อน นอกจากนั้นในอนาคตอาจมีความร่วมมือกับเทศบาลนครยะลาในการส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชนในภาคใต้ต่อไป และในปีนี้บริษัทเซ็นทรัลพัฒนามหาชนจำกัด ภายใต้โครงการ “เพาะกล้าปัญญาไทย” ได้มอบงบประมาณร่วมสร้างศูนย์สารสนเทศการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีในภาคใต้ พร้อมกับต้องการขยายผลสู่ภาคอื่น ๆ ในอนาคตด้วย โดยจะนำร่องที่จังหวัดขอนแก่นและชลบุรี” นายราม ติวารี นักวิชาการสาขาฟิสิกส์ สสวท. กล่าว
ศูนย์สารสนเทศการเรียนรู้ดังกล่าว จะเป็นต้นแบบที่ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมกับการเรียนรู้ของชุมชน ดูแลโดยชุมชน และอยู่ได้อย่างยั่งยืน ให้ความรู้สอดคล้องกับความต้องการ วิถีชีวิตของคนในชุมชน ให้เยาวชนและคนในชุมชนมีความสนใจและรักการศึกษาหาความรู้ ได้พัฒนาความรู้และโลกทรรศน์ เพื่อเป็นพลเมืองไทยที่มีความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ เป็นผู้ที่มีเหตุผล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมอารยะ