กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--พันธวณิช
นายไตร กาญจนดุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พันธวณิช จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มการใช้การจัดซื้อจัดหาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถขยายตัวได้อีกมากจากปัจจัยหนุนด้านเศรษฐกิจ ส่วน พ.อ. รังษี กิติญาณทรัพย์ ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหารเสนอรัฐบาลใหม่กระตุ้นการใช้การประมูลออนไลน์ และการแก้ไขระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ขณะที่ ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ที่ปรึกษาบริษัท พันธวณิช ชี้สิ่งที่ภาคเอกชนจะสามารถทำได้ในระหว่างการรอมาตรการ หรือนโยบายเศรษฐกิจจากรัฐบาลใหม่ คือการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ผ่าน e-Procurement
ในปัจจุบันการนำเอาระบบระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างนั้นได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทั้งในภาครัฐและเอกชน เนื่องจากการจัดซื้อจัดหาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์นั้นสามารถสร้างประโยชน์ในด้านของการบริหารต้นทุนในการดำเนินงานและการลดระยะเวลาในการจัดซื้อจัดหา รายงานจาก Aberdeen Benchmark ได้พิสูจน์ว่าการใช้ระบบ e-Procurement นั้นสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ในหลายด้าน โดยในทวีปอเมริกาเหนือนั้นสามารถควบคุมการใช้จ่ายให้อยู่ในการจัดซื้อผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 65 และสามารถลดขั้นตอนในการดำเนินงานและต้นทุนได้มากกว่า 50% ส่วนในทวีปยุโรปสามารถลดระยะเวลาการดำเนินงานได้ร้อยละ 45 และลดค่าใช้จ่ายลงถึงร้อยละ 69 จากรายงานการสำรวจพบว่าแนวโน้มการใช้ e-Procurement ในตลาดโลกนับวันจะการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้คณะกรรมาธิการยุโรปได้ริเริ่มโครงการ European Information Society 2010 หรือ EU i2010 ซึ่งมีเป้าหมายให้ประเทศสมาชิกหันมาใช้การการจัดซื้อจัดหาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักภายในปี ค.ศ. 2010 ส่วนในภาคเอกชนนั้นร้อยละ 86 ของผู้บริหารระดับสูงในบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ 2000 อันดับแรกของโลก (โดยนิตยสารฟอร์บส์) นั้นมีความสนใจที่จะใช้การจัดซื้อจัดหาผ่านระบบออนไลน์เพิ่มมากขึ้นในอีก 1 ปีข้างหน้า
จากมุมมองของพันธวณิช ตลาดการจัดซื้อด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยนั้นยังสามารถขยายตัวได้อีกมาก จากการสำรวจบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กว่า 500 บริษัท พบว่าจำนวนบริษัทที่ใช้ระบบ e-Procurement นั้นยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก และจากการพูดคุยกับบริษัทต่างๆ ปัจจุบันความสนใจของผู้บริหารบริษัทได้เปลี่ยนจากการลดต้นทุนไปเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านการจัดซื้อให้กับบริษัทมากขึ้น นอกจากนี้ปัจจัยด้านเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่ยังคงตัวอยู่ในระดับสูงและอัตราเงินเฟ้อที่อาจไม่เป็นไปตามกรอบเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ และธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์เอาไว้นั้นทำให้องค์กรต่างๆ ของประเทศหันมาลดต้นทุนในการดำเนินงาน ดังจะเห็นได้จากการที่เครือซิเมนต์ไทยประกาศให้เป็นปีแห่งการลดต้นทุน “ดังนั้นการจัดซื้อจัดหาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จึงเป็นอีกหนึ่งคำตอบในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพิ่มธรรมาภิบาลในกระบวนการจัดซื้อ รวมทั้งลดต้นทุนการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อรักษากำไรของกิจการในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ทำให้พันธวณิชมีโอกาสเพิ่มมากขึ้นที่จะขยายการให้บริการ e-Procurement ผ่านบริการอันหลากหลายของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการประมูลออนไลน์ การวางแผนการจัดซื้อ และบริการวิสาหกิจร่วมซื้อ” นายไตร กล่าว
ส่วน พ.อ. รังษี กิติญาณทรัพย์ ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหารกล่าวว่าในปีที่ผ่านมาจำนวนการประมูลออนไลน์ภาครัฐนั้นมีปริมาณลดลง โดยงบประมาณที่มีการใช้จ่ายผ่านการประมูลออนไลน์ของภาครัฐลดลงจากร้อยละ 62 ในปี 2549 เหลือเพียงร้อยละ 48 ในปี 2550 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและปัญหาความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ
ประจำปี 2550 สิ่งที่น่าสังเกตคือในขณะที่จำนวนการประมูลออนไลน์ของภาครัฐลดลงนั้น อัตราการคอร์รัปชั่นกลับปรับตัวสูงขึ้นจากการสำรวจล่าสุดของเพิร์ก “ดังนั้นรัฐบาลชุดใหม่จึงควรที่จะส่งเสริมการใช้การประมูลออนไลน์ในกระบวนการจัดหาของภาครัฐเพื่อทำให้ใช้งบประมาณนั้นมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มความโปร่งใส โดยในปีนี้ถ้ารัฐบาลสามารถผลักดันให้มีการใช้จ่ายงบประมาณผ่านวิธีประมูลออนไลน์ได้ถึงร้อยละ 60 ของงบประมาณรายจ่ายเพื่อการลงทุนทั้งหมด และถ้าส่วนประหยัดอยู่ที่อัตราร้อยละ 8 รัฐบาลจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 19,000 ล้านบาทซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 5,000 ล้านบาท” พ.อ.รังษี กล่าว นอกจากนี้รัฐบาลชุดใหม่ควรที่จะควบคุมการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผนงบประมาณฯ ที่ตั้งไว้เพื่อผลักดันให้กระบวนการการจัดซื้อจัดจ้างกระจายออกจากส่วนกลางและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต การแก้ไขระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างนั้นเป็นอีกประเด็นสำคัญที่รัฐบาลชุดใหม่ควรที่จะพิจารณาแก้ไขโดยปรับลดงบประมาณขั้นต่ำลงจาก 2 ล้านบาทเหลือเพียง 1 ล้านบาท เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้งบประมาณในหน่วยงานของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น พ.อ.รังษี กล่าวเสริม
ขณะที่ ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ที่ปรึกษาบริษัท พันธวณิช ชี้ทิศทาง e-Procurement หลังการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาว่า สิ่งที่จะต้องจับตาหลังการประกาศจัดตั้งรัฐบาลของ 6 พรรคการเมืองนั้นคือ โฉมหน้าของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมเศรษฐกิจที่จะมาดูแลและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยขณะนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตอยู่ที่ระหว่างร้อยละ 3.8 — 5.3 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากสหรัฐอเมริกา ประกอบกับต้นทุนในการผลิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความเป็นไปได้สูงที่อัตราเงินเฟ้ออาจไม่เป็นไปตามกรอบเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ และธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์เอาไว้ การใช้มาตรการหรือนโยบายแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการแทรกแซงราคาจะเป็นภาระงบประมาณในอนาคต แม้ฐานะของงบประมาณจะยังสามารถทำขาดดุลเพิ่มเพื่อดูแลเศรษฐกิจได้ก็ตาม แต่ควรใช้งบขาดดุลเพื่อการลงทุน มากกว่า การใช้จ่ายเงินเพื่อแทรกแซงราคา เพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ขณะที่นโยบายการเงินแบบเข้มงวดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อก็ควรจะดำเนินการอย่างระมัดระวังในสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว ดังนั้นสิ่งที่ภาคเอกชนจะสามารถทำได้ในระหว่างการรอมาตรการ หรือนโยบายเศรษฐกิจจากรัฐบาลใหม่ คือการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การทำงาน รวมทั้งลดต้นทุน เพื่อรักษากำไรของกิจการไม่ให้ลดต่ำมากเกินไป การจัดซื้อจัดหาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จึงเป็นอีกหนึ่งทางออกที่จะช่วยให้ภาคเอกชนรับมือกับภาวะต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นและสถานการณ์เงินเฟ้อสูงได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
คุณสุพพตา บัวเอี่ยม
บริษัท พันธวณิช จำกัด โทร: 02-654-1499 ต่อ4288, มือถือ: 081-694-6056
แฟกซ์ : 02-679-7474 อีเมลล์: [email protected]
- ธ.ค. ๒๕๖๗ ททบ.5 ผนึกกำลังองค์กรสื่ออิหร่าน ลงนาม MOU ความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์
- ธ.ค. ๒๕๖๗ ประธานกรรมการ เครือซีพี "สุภกิต เจียรวนนท์" ระดมพลังบริษัทในเครือ ผนึกกองทัพภาคที่ 1 และททบ.5 ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพ ส่งต่อกำลังใจและความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.อ่างทอง
- ธ.ค. ๒๕๖๗ พร้อมแล้ว ! ททบ.5 เปลี่ยนหมายเลขช่องเป็น "เลข 5" ดีเดย์ 25 พ.ย.นี้