กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--มหาวิทยาลัยมหิดล
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ร่วมกับสถาบันประชากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเวทีนโยบายสาธารณะ เรื่อง จินตนาการความเป็นไทยกับสถานการณ์ความไม่สงบภาคใต้ ในวันอังคารที่ 29 มกราคม 2551 เวลา 8.30 -12.30 น. ณ ห้องกรุงธนบอลรูม โรงแรมรอยัลรีเวอร์ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิจัยในโครงการจินตนาการใหม่ ความเป็นไทย และแลกเปลี่ยนความเห็น ว่าด้วยความเป็นไทย ที่เปิดกว้างสำหรับอัตลักษณ์ของชาติพันธ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคมไทย โดยมีรศ.สายชล สัตยานุรักษ์ เป็นผู้กล่าวปาฐกถานำเรื่อง ประวัติศาสตร์การสร้าง “ ความเป็นไทย” กระแสหลัก และ นายธีรยุทธ บุญมี กล่าวปัจฉิมกถา เรื่อง พหุนิยมกับพหุความเป็นไทย
นายโคทม อารียา ผู้อำนวยศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า รากฐานของสังคมสันติสุข เกิดจากการที่ผู้คนในสังคมยอมรับความแตกต่างหลากหลายของคนที่อยู่ร่วมกัน มีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจกัน ปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงส่วนหนึ่งเกิดจากการที่คนในสังคมรู้สึกว่าไม่มีพื้นที่สำหรับตนเองในสังคม ความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ของตนไม่ได้รับการยอมรับและถูกยัดเยียดบางอย่างให้ จึงหาทางที่จะเรียกร้องการแสดงออก ในขณะที่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เข้าใจที่มาที่ไป ของการแสดงออกเช่นนั้น โครงการนี้จึงมีคุณูปการในการกระตุ้นให้คนในสังคมได้กระตุกความคิด ที่ชาติพันธุ์อื่นที่อยู่ร่วมในสังคมไทย หรืออยู่มาก่อนที่ความเป็นไทยจะเกิดขึ้นมาเสียอีก
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันประชากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า เมื่อพูดถึงความเป็นไทย จะพบจินตนาการที่คับแคบมาก เมื่อพูดถึงภาษา ก็คิดถึงเฉพาะภาษาไทยกลางที่ใช้กันอยู่ ภาษาเดียว ทั้งที่จริง ๆ เรามีภาษาที่ใช้พูดอยู่มากมายในไทย และมีมานานแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องขบคิดคือ ทำอย่างไรให้เมื่อพูดถึงความเป้นไทยนั้น เราสามารถจินตนาการได้ถึงผู้คนอันหลากหลายที่อยู่ร่วมกัน บนแผ่นดิน ทำอย่างไรให้อัตลักษณ์ของความเป็นที่แท้และมีอยู่หลากหลายนั้นได้มีพื้นที่แสดงออกมา
สอบถามเพิ่มเติม 02-8496072-4 หรือ 086-3311525