สภากทม. แนะกทม. ใช้เฮลิคอปเตอร์เพิ่มประสิทธิภาพการดับเพลิงอาคารสูง

ศุกร์ ๒๕ มกราคม ๒๐๐๘ ๑๑:๕๐
กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--กทม.
ในการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 1 (ครั้งที่ 4) ประจำปี พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 51 นายอภิชาติ หาลำเจียก สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตดินแดง เสนอญัตติด้วยวาจา เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการดับเพลิงอาคารสูง เนื่องจากการเข้าไประงับอัคคีภัยในอาคารสูงมีความเสี่ยงและความไม่ปลอดภัยในชีวิตของนักดับเพลิง ในแต่ละครั้ง อีกทั้งยังขาดแคลนอุปกรณ์ที่ทันสมัยในการปฏิบัติงาน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่หากเกิดเพลิงไหม้ในอาคารสูง จึงขอให้กรุงเทพมหานครเร่งเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์ดับเพลิงและใช้เฮลิคอปเตอร์ในการปฏิบัติหน้าที่ อีกทั้งผู้ประกอบการอาคารสูงต้องมีแผนผังของตัวอาคารให้กับเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ดับเพลิงไหม้ในตัวอาคารตามจุดต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุได้อย่างทันท่วงที นอกจากนั้นกรุงเทพมหานครควรจะต้องให้ความสำคัญแก่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงผู้ปฏิบัติงานของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพราะพวกเขาเหล่านี้คือวีรบุรุษและควรได้รับการเชิดชูเกียรติ ยกย่องในการเสียสละในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งอยู่บนความเสี่ยงโดยไม่คำนึงถึงชีวิตในการเข้าไประงับอัคคีภัย ซึ่งในวันที่ 2 พ.ย. ของทุกปี ถือว่าเป็นวันของนักดับเพลิง กรุงเทพมหานครควรจัดกิจกรรมพิเศษโดยการมอบรางวัลพร้อมทั้งเชิดชูเกียรติแก่เจ้าหน้าที่เหล่านี้
ด้านนายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตห้วยขวาง ตั้งข้อสังเกตว่า ควรอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและซักซ้อมในการใช้เฮลิคอปเตอร์อย่างถูกวิธีในการเข้าระงับอัคคีภัยอาคารสูง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดับเพลิงมากยิ่งขึ้น และควรประสานขอความร่วมมือภาครัฐและหน่วยงานราชการต่างๆ ที่มีเฮลิคอปเตอร์ในการระงับอัคคีภัย อีกทางหนึ่งด้วย
ด้าน ดร.วัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวชี้แจงว่า กรุงเทพมหานครมีนโยบายให้ผู้ประกอบการสำรวจอาคารตนเองที่เป็นอาคารสูงเกิน 23 เมตรหรือมีเนื้อที่เกิน 10,000 ตร.ม. รวมถึงชุมชน อาคาร หอพัก สถานบันเทิงต่างๆ ให้มีมาตรการป้องกันอัคคีภัยรวมถึงอุปกรณ์ในการป้องกันต่างๆ ให้ตรงตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.ป้องกันอัคคีภัย พ.ศ. 2550 เช่น ทางหนีไฟ สัญญาณเตือนภัย ระบบไฟฉุกเฉิน เครื่องดับเพลิงชนิดมือ อีกทั้งมีการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องมือในการเข้าระงับอัคคีภัย อาทิ รถปั้มน้ำที่สูบขึ้นไปดับเพลิงอาคารสูง รถทำลายกระจกเพื่อระบายควัน รถกระเช้าที่สามารถยกขึ้นสูงได้ถึง 88 เมตร อีกทั้งได้ประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่มีเฮลิคอปเตอร์เพื่อขอความร่วมมือในการเข้าปฏิบัติหน้าที่ร่วมกัน มีแผนรองรับและมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งนโยบายที่จะเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ และมีโครงการที่จะก่อสร้างสถานีดับเพลิง เพิ่มอีก 6 แห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบอย่างใกล้ชิดให้อยู่ในหลักเกณฑ์ พร้อมทั้งให้ความรู้ความเข้าใจในด้านป้องกันหากเกิดเพลิงไหม้แก่ประชาชนในชุมชนต่างๆ ทุกวัน ซึ่งจะเป็นการสร้างความคุ้นเคยให้กับเจ้าหน้าที่ในเรื่องของเส้นทางต่างๆ ในการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างรวดเร็วหากมีเหตุเพลิงไหม้ และในขณะนี้ได้ส่งหัวหน้าสถานีดับเพลิงและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงไปดูงานต่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านทักษะและความรู้ในการเข้าระงับเหตุเพลิงไหม้ในอาคารสูงอีกด้วย
ทั้งนี้ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีการอภิปรายของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในการดับเพลิงอาคารสูงอย่างกว้างขวาง พร้อมกันนี้ในที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญ 17 คน เพื่อพิจารณากลั่นกรองในรายละเอียดเสนอต่อผู้บริหารกรุงเทพมหานครเพื่อดำเนินการต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ