ความสำเร็จของโครงการสร้างเทคโนโลยีเครื่องจักรพื้นฐาน และโครงการประยุกต์ใช้โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาในด้านการส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทย

จันทร์ ๒๘ มกราคม ๒๐๐๘ ๑๑:๒๗
กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--สมาคมเครื่องจักรกลไทย
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมาคมเครื่องจักรกลไทย และ สถาบันไทย-เยอรมัน ประสบความสำเร็จในการต่อยอดเครื่องต้นแบบไปสู่เชิงพาณิชย์ อาทิ เครื่องทำแห้งเยือกแข็งสูญญากาศ เครื่องตัดวัสดุด้วยน้ำแรงดันสูง เครื่องจักรกลระบบ CNC 5 แกน เครื่องพิมพ์สำหรับบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ เชื่อมั่นจะทดแทนการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ ที่มีมูลค่าสูงกว่า 6 หมื่นล้านบาทต่อปี พร้อมโชว์ผลงานความสำเร็จในงาน “ความสำเร็จของโครงการสร้างเทคโนโลยีเครื่องจักรพื้นฐาน และโครงการประยุกต์ใช้โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ในด้านการส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทย”
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมาคมเครื่องจักรกลไทย และสถาบันไทย-เยอรมัน สนับสนุนและดำเนินการคิดค้นปรับปรุงเครื่องจักรกล เพื่อให้เกิดการผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์โดยมุ่งเน้น 4 กลุ่มหลัก คือ เครื่องจักรกลพื้นฐาน เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องจักรกลแปรรูป และเครื่องจักรกลเพื่อบรรจุภัณฑ์ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่างๆ และนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ SMEs
นวัตกรรมและเทคโนโลยีนับเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ก่อให้เกิดความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มผลิตภาพที่จะนำมาซึ่งโอกาสใหม่ของการแข่งขันในตลาดโลก เพราะจะช่วยสร้างความแตกต่างที่โดดเด่นด้วยสินค้าและบริการที่แปลกใหม่ ทันสมัย ตรงความต้องการของลูกค้า ซึ่งภารกิจดังกล่าวนับเป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญของสสว. ในการให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs
ในปี 2550 ที่ผ่านมาสสว.ได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้และปัจจัยเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบการภาคการผลิตโดยการสนับสนุนการพัฒนา และสร้างเครื่องจักรอุตสาหกรรมตามนโยบายรัฐบาลภายใต้โครงการเสริมสร้างพื้นฐานทางปัญญาแก่เอสเอ็มอี ซึ่งประกอบไปด้วย 2 โครงการที่สำคัญ ได้แก่โครงการสร้างเทคโนโลยีเครื่องจักรพื้นฐานเพื่อการนำร่องการผลิตเครื่องทำแห้งเยือกแข็งสูญญากาศ (Vacuum Freeze Dryer) ในเชิงพาณิชย์ ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และสมาคมเครื่องจักรกลไทย
โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาต่อยอดเครื่องต้นแบบเครื่องทำแห้งเยือกแข็งสุญญากาศที่เป็นองค์ความรู้ของ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วว.) ให้นำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยอาศัยผู้ผลิตที่ชำนาญการผ่านทางสมาคมเครื่องจักรกลไทยเป็นผู้ดำเนินการผลิตภายใต้เทคโนโลยีต้นแบบดังกล่าว ซึ่งผลผลิตเครื่องจักรที่ได้จากโครงการจะได้นำไปเผยแพร่ให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสทดลองใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตของตน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอาหาร ตลอดจนอุตสาหกรรมยาและสมุนไพรต่างๆ นอกจากนั้นยังมีการศึกษาตลาดทั้งเชิงลึกและเชิงกว้างเพื่อนำไปสู่การสร้างเครื่องจักรประเภทอื่นๆให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ต่อไป
ยิ่งไปกว่านั้น สสว. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาเครื่องจักรต่างๆ ที่จะช่วยลดการสูญเสียเงินตราจากการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องมีการนำเข้าเครื่องจักร โดยเฉพาะเครื่องมือกลสูงถึงกว่า 60,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อทดแทนปริมาณเครื่องจักรกลเก่าที่นับวันจะเสื่อมประสิทธิภาพ และล้าสมัยลง ปัจจุบันเครื่องจักรเก่าๆ เหล่านี้มีปริมาณมากกว่า 80,000 เครื่อง ดังนั้นภาครัฐจึงได้ช่วยกันที่จะหาวิธี ที่จะช่วยลดการนำเข้าเครื่องจักรเกิดการพึ่งพาตนเอง และในขณะเดียวกันก็ต้องการเพิ่มศักยภาพในการผลิตและปรับปรุงเครื่องจักรเก่าให้สามารถนำกลับมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สสว. จึงได้ร่วมมือกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ในการให้การสนับสนุนเทคโนโลยีการทำวิศวกรรมย้อนรอย (Reverse Engineering) แก่ภาคเอกชนผ่านสมาคมเครื่องจักรกลไทยและสถาบันไทย-เยอรมัน เกิดเป็นความสำเร็จของโครงการประยุกต์ใช้โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาในด้านการส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทย
ทั้งนี้ผลงานความสำเร็จของทั้ง 2 โครงการดังกล่าวได้นำมาจัดแสดงร่วมกันภายในงาน “ความสำเร็จของโครงการประยุกต์ใช้โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ในด้านการส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทย” เพื่อสาธิตประสิทธิภาพการทำงาน จำนวน 17 เครื่อง อาทิ
- เครื่องทำแห้งเยือกแข็งสุญญากาศ (Vacuum Freeze Dryer) หลักการทำงานของเครื่องดังกล่าวอาศัยการทำให้น้ำแข็งในโครงสร้างของวัตถุดิบที่ผ่านการแช่แข็งนั้นเกิดการระเหิดออกไปภายใต้สภาวะสุญญากาศ ซึ่งจะเป็นผลให้โครงสร้างของเนื้อวัตถุดิบนั้นแห้ง สามารถเก็บไว้ได้นาน โดยมีสี กลิ่น รสชาติและโครงสร้างของเนื้อวัตถุดิบมีสภาพใกล้เคียงกับสภาวะแรกเริ่มหรือในสภาวะของสดมากที่สุด ตัววัตถุดิบที่ผ่านกระบวนการทำแห้งเยือกแข็งสุญญากาศนั้นยังสามารถกลับสู่สภาพใกล้เคียงสภาพเดิมได้เมื่อสัมผัสกับน้ำอีกครั้ง ซึ่งเครื่องดังกล่าวจะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาพืชผักผลไม้ให้ได้ยาวนานขึ้น เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยาและสมุนไพร
- เครื่องต้นแบบเครื่องตัดวัสดุ ด้วยน้ำแรงดันสูง หรือ Water Jet Cutting Machine เป็นเครื่องที่ใช้น้ำแรงดันสูงในการตัดวัสดุไม่ว่า จะเป็นวัสดุโลหะหรือ อโลหะ สามารถช่วยลดความซับซ้อนของกระบวนการทำงานและยังสามารถควบคุมการทำงานของเครื่องจักรด้วยชุดคำสั่งภาษาไทยได้ด้วย
- เครื่องจักรกลระบบ CNC 5 แกน เป็นเครื่องมือพิเศษ เหมาะสำหรับงานออกแบบมาเพื่อผลิตชิ้นงานประเภท Cutting Tool อาทิ ดอกเอ็นมิล, สกูรเครื่องฉีดพลาสติก, Step Drill ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับงาน CNC
- เครื่องจักรกล CNC ที่ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีการฟื้นฟูและซ่อมแซม หรือที่เรียกว่า Retrofit เป็นโครงการศึกษาวิจัยแนวทางพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทย เพื่อฟื้นฟูสภาพเครื่องจักรซีเอ็นซีเก่าให้สามารถกลับมาใช้งานใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนำไปสู่การพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยีของผู้ประกอบการ SMEs และยังเป็นการลดการนำเข้าเครื่องจักรชิ้นส่วนอะไหล่จากต่างประเทศอีกด้วย
- เครื่องพิมพ์สำหรับบรรจุภัณฑ์ เป็นเครื่องพิมพ์แบบ Modular Unit สามารถถอดประกอบและเชื่อมต่อกันได้ตามความต้องการของลูกค้า ระบบกลไกและไฟฟ้า รวมทั้งระบบควบคุมออกแบบให้สัมพันธ์กันทั้งหมด และสามารถปรับสีการพิมพ์ได้มากถึง 6 สี
งานนี้จัดขึ้นที่ศูนย์การแสดงนิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ภายในงานยังจัดให้มีกิจกรรมเสวนาบนเวทีในหัวข้อ “ก้าวสู่ความสำเร็จของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทย” โดยมีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนที่ร่วมมือกันพัฒนาจนสามารถผลักดันให้โครงการฯ ประสบความสำเร็จ และพร้อมก้าวสู่การพัฒนาในระดับสากลร่วมเสวนา
โอกาสนี้ยังได้รับเกียรติจาก คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมแสดงความยินดีกับความสำเร็จและยังเป็นบุคคลผู้ผลักดันโครงการสำคัญที่ทำให้เกิดความสำเร็จของโครงการฯ พร้อมร่วมชมและทดลองใช้เครื่องจักรที่จัดแสดง โดยได้ให้สัมภาษณ์ถึงความสำเร็จของโครงการฯ ดังกล่าวว่า...
“นับเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจที่คนไทยสามารถพัฒนาขีดความรู้ ความสามารถ ในการผลิตเครื่องจักรขึ้นเอง ได้ ซึ่งในอนาคตเราอาจไม่ต้องนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศแล้ว หากยังมีการพัฒนาศักยภาพของเครื่องจักรกลอย่างต่อเนื่องให้ประสิทธิภาพทัดเทียมกับต่างชาติ ซึ่งนั้นก็หมายความว่านอกจากรัฐบาลเองจะสามารถลดการสูญเสียเม็ดเงิน ที่จะต้องนำเข้าเครื่องจักกลจากต่างประเทศแล้ว ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมเพราะเครื่องจักรกลถือเป็นปัจจัยสำคัญ ในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมทุกประเภท และมีผลต่อเนื่องไปถึงการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรและภาคเกษตรด้วยนั่นเอง”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
คุณสุวรรณี (แอ๊ท) 08-6323-6599 / คุณทิพวรรณ (กุ้ง) 08-1755-6548 หรือ คุณปานรัตน์ ปานดวง (สมาคมเครื่องจักรกลไทย)
โทร. 0-2712-2096

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version