กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--ก.ยุติธรรม
สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม
นาย วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า สืบเนื่องตาม พ.ร.บ. พัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2549 ได้กำหนดให้คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม นำไปสู่การพัฒนาและการดำเนินความยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพรวดเร็วโปร่งใสและเป็นธรรม สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
สำนักงานกิจการยุติธรรมในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการด้านจัดทำ ประสาน ติดตามประเมินผล และปรับปรุงแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ซึ่งมีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน จึงได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนและดำเนินการจัดทำแผนแม่บทดังกล่าวอย่างเป็นขั้นตอน โดยผ่านการจัดเวทีระดมความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ การสำรวจรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจากกลุ่มตัวอย่างเกือบ 7,000 คน และนำผลมาเป็นข้อมูลประกอบการยกร่างวิสัยทัศน์ พันธะกิจ และยุทธศาสตร์การพัฒนากระบวนการยุติธรรมของแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ
นายสมณ์ พรหมรส ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและประสานแผนกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า การจัดทำแผนแม่บทฯ ฉบับนี้ นอกจากมีเนื้อหาสาระตามกรอบที่กฎหมายกำหนดแล้ว คณะอนุกรรมการจัดทำแผนฯ ยังได้กำหนดกรอบแนวคิดเพิ่มเติม 4 ประการ คือ 1.ได้อันเชิญพระบรมราโชวาทของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง กฎหมายไม่ใช่ความยุติธรรมแต่เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการรักษากระบวนการยุติธรรมเป็นปรัชญาในการนำทาง 2. เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมสะท้อนความต้องการและปัญหาข้อเท็จจริงตามที่เกิดขึ้น 3.ปรับปรุงระบบงานยุติธรรมเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยงานในการบวนยุติธรรม และ 4. เน้นการพัฒนาของกระบวนการยุติธรรมที่ครอบคลุมทั้งเรื่องแพ่ง อาญาและปกครอง
ภายใต้กรอบแนวทางดังกล่าว ร่างแผนแม่บทบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2552-2555 จึงมีสาระสำคัญประกอบด้วย ผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทกระบวนการยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2547-2549) และฉบับปรับปรุง พ.ศ.2550-2551 สถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานยุติธรรม มุมมองและความต้องการของภาคประชาชนและผู้เกี่ยวข้องที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม เป้าประสงค์ของแผนฯ รายละเอียดยุทธศาสตร์และแนวทางการดำเนินงาน การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติและการติดตามประเมินผล
ทั้งนี้สาระสำคัญที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็นความต้องการของประชาชนกลุ่มตัวอย่างที่ติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมต่าง ๆ เช่น ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม สถานีตำรวจ สำนักงานคุมประพฤติ สำนักงานบังคับคดี ราชทัณฑ์ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กทั่วประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง การศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึง ปวช. มีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน ในภาพรวม กลุ่มตัวอย่างส่วนมากมีความพึงพอใจต่อการให้บริการของหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมในระดับค่อนข้างพอใจในทุกด้าน คือ ด้านกระบวนการขั้นตอนการให้บริการ ด้านเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและสถานที่ และด้านคุณภาพการให้บริการ แต่ก็ขอให้มีการปรับปรุงในเรื่องต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ขั้นตอนการดำเนินงานที่สะดวก รวดเร็ว มีกรอบระยะเวลาการให้บริการอย่างชัดเจน เป็นต้น
ผอ.สำนักนโยบายและประสานแผนกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า แผนแม่บทฯ ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อแสดงทิศทางการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมของประเทศที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนและสอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นกรอบแนวทางความร่วมมือในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปโดยสอดคล้องกัน และมีประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน ตลอดจนใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด และเพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมและเป็นธรรม สังคมมีความสงบเรียบร้อยมั่นคงปลอดภัยและเอื้อต่อการพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้าน โดยมีเป้าหมายการดำเนินงาน คือ 1. ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการของหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีความพึงพอใจ 2. อาชญากรรม ข้อพิพาท ข้อร้องเรียนต่าง ๆ ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมลดลง 3. กฎหมายมีการบังคับใช้อย่างเสมอภาคและเป็นธรรม 4. ประชาชนมีความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยและศรัทธาและเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ได้กำหนด 5 ยุทธศาสตร์การดำเนินงาน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานที่สอดคล้องสนับสนุนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ 1. การส่งเสริมการสร้างมาตรการป้องกันอาชญากรรมและการลดการเกิดข้อพิพาท 2. ส่งเสริมการประนอมข้อพิพาทและกระบวนการยุติธรรมทางเลือก 3. เสริมสร้างการมีส่วนร่วมและบทบาทของภาคประชาสังคม 4.พัฒนาประสิทธิภาพบริการและการส่งเสริมคุณธรรม 5. ประสานความร่วมมือและพัฒนาระบบงานยุติธรรม
นอกจากนี้ แผนแม่บทฯ ฉบับนี้ ได้ระบุแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ โดยเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจร่วมกันในเนื้อหาสาระของแผน พัฒนากลไกประสานความร่วมมือในการทำงาน เสริมสร้างบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนา บูรณาการแผนงาน/โครงการระดับต่าง ๆ ที่สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ รวมทั้งการผลักดันให้มีการบรรจุสาระสำคัญของแผนแม่บทฯไว้ในนโยบายรัฐบาล ขณะเดียวกันมีการติดตามประเมินผลโดยพัฒนาระบบการติดตามประเมินผลและสร้างดัชนีชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนาในทุกระดับ และสนับสนุนการพัฒนาระบบฐานข้อมูลในทุกระดับและเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลข่าวสารระหว่างหน่วยงานกลางระดับนโยบายและระดับพื้นที่
ขณะนี้ แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติฉบับดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการจัดทำแผนฯ และอยู่ระหว่างการปรับปรุงเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป.
- พ.ย. ๒๕๖๗ กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมกับ สดช. และสมาคมผู้ใช้ดิจิทัลไทย (DUGA) จัดสัมมนา โครงการ เมืองยั่งยืน 2023
- พ.ย. ๒๕๖๗ ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (GCC 1111) สัมมนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และ GCC1111 ประจำปี 2566
- พ.ย. ๒๕๖๗ ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (GCC 1111) สัมมนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และ GCC1111 ประจำปี 2566