ซีเกทผนึกกำลังกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย เอไอทีและสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทยจัดการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย 2551

จันทร์ ๐๔ กุมภาพันธ์ ๒๐๐๘ ๑๔:๔๖
กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--ซีเกท เทคโนโลยี
บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) และสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย จัดการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย 2551 (Thailand Intelligent Vehicle Challenge 2008) ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาจากทั่วประเทศเข้าร่วม การแข่งขันสร้าง “รถอัจฉริยะไร้คนขับ”
การแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย 2551 จะจัดรอบคัดเลือกขึ้นในวันที่ 2 เดือนเมษายน ส่วนการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ จะจัดขึ้นในวันที่ 4 เดือนมิถุนายน ศกนี้ ณ สนามบางกอก เรซซิ่ง เซอร์กิต (Bangkok Racing Circuit) สำหรับการแข่งขันนี้ มีการผสมผสานการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น หุ่นยนต์ เครื่องกลและคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกันอย่างลงตัวเพื่อให้ได้ “รถอัจฉริยะไร้คนขับ” ที่สามารถขับเคลื่อนได้เองบนเส้นทางที่กำหนด ให้ได้ระยะทางไกลที่สุดและเร็วที่สุด
รถยนต์ของทุกทีมต้องติดตั้งฮาร์ดดิสก์ รุ่น EE 25 ของซีเกท เพื่อเก็บข้อมูลที่วัดได้จากเซนเซอร์ เช่น ตำแหน่งของรถ หรือภาพที่ได้รับจากกล้อง หรือ ข้อมูลอื่น ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดการแข่งขัน จำนวนความถี่ของ ข้อมูลอย่างต่ำหนึ่งชุดข้อมูลทุก ๆ ระยะทาง 20 เมตร เพื่อเป็นรายงานประกอบการแข่งขัน
นายเจฟฟรี่ย์ ดี ไนการ์ด รองประธานและผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัทซีเกท เทคโนโลยี กล่าวว่า “การแข่งขันนี้เป็นการแข่งขันที่ท้าทายมากสำหรับนิสิตนักศึกษาไทย ซึ่งจำเป็นต้องนำความรู้ที่ได้เรียนมาปรับใช้เพื่อสร้างรถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนได้โดยอัตโนมัติในสภาพแวดล้อมแบบเปิด นอกจากการพัฒนาศักยภาพทางด้านเทคนิคแล้ว นิสิตนักศึกษาเหล่านี้จะได้พัฒนาศักยภาพในการทำงานเป็นทีม การใช้เหตุผลและความเชี่ยวชาญอื่น ๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อความสำเร็จในการประกอบอาชีพในยุคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนในโลกดิจิตอล”
ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมการแข่งขันได้ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ศกนี้ โดยสมาชิกในทีมต้องเป็นนักศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรือสูงกว่าในสถาบันการศึกษาในประเทศ แต่ละทีมมีสมาชิกได้ไม่เกิน 10 คน และมีอาจารย์ที่ปรึกษา 3 คน ผู้สนใจสามารถลงทะเบียน ดูกฎและกติกาการแข่งขัน และรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.trs.or.th หรือ http://tivc.ait.ac.th/
การแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย 2551 แบ่งออกเป็น 3 รอบ คือ รอบคัดเลือกจากรายงานการออกแบบ การแข่งขันรอบคัดเลือก และการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ในรอบคัดเลือกจากรายงานการออกแบบจะพิจารณาจากรายละเอียดในรายงานการออกแบบรถอัจฉริยะ ซึ่งรายงานจะต้องมีรายละเอียดของรถที่ใช้ ประเภทของเครื่องยนต์ ชนิดของเซนเซอร์ ระบบควบคุม เทคนิคการหยุดรถกรณีฉุกเฉิน และกลยุทธ์การแข่งขัน
ในการแข่งขันรอบคัดเลือก ผู้เข้าแข่งขันจะต้องพัฒนารถไร้คนขับให้วิ่งไปบนเส้นทางที่กำหนดให้ด้วยความเร็วสูงสุดและวิ่งได้ระยะทางไกลที่สุด 8 ทีมที่ทำคะแนนได้ดีที่สุดจะได้รับเงินสนับสนุนทีมละ 50,000 บาท
ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ รถไร้คนขับจะต้องรู้ถึงสิ่งกีดขวางทั้งหมด รถไร้คนขับจะต้องวางแผนใหม่เพื่อใช้เส้นทางอื่น หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางที่ติดตั้งแบบบังคับและอย่างสุ่ม หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางระหว่างทางในขณะที่ปฏิบัติภารกิจที่สลับซับซ้อนหลายบทบาทได้อย่างสมบูรณ์ การตัดสินทีมชนะเลิศ จะพิจารณาจากทีมที่วิ่งได้ระยะทางไกลที่สุด เร็วที่สุด
ทีมที่ชนะเลิศในการแข่งขันจะได้รับเงินรางวัล 300,000 บาท ทีมรองชนะเลิศได้รับเงินรางวัล 200,000 บาท และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย กล่าวว่า การจัดการแข่งขันรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทยครั้งที่ 2 ไม่เพียงช่วยเตรียมนิสิตนักศึกษาสำหรับการสร้าง “รถอัจฉริยะไร้คนขับ” เท่านั้น แต่ยังช่วยทำให้พวกเขารู้จักการทำงานเป็นทีมและการแก้ไขปัญหาซึ่งสามารถช่วยพวกเขาในการประกอบอาชีพในอนาคต
ดร. จักรกฤษณ์ กล่าวเสริมว่า “การจัดการแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย ถือเป็นกิจกรรมที่ท้าทายทั้งสำหรับอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้เข้าแข่งขัน อาจารย์ที่ปรึกษาจำเป็นต้องมีบทบาทสำคัญในการดึงดูดความสนใจของนักพัฒนารุ่นเยาว์เพื่อให้นิสิตนักศึกษาสามารถเพิ่มขีดความสามารถทางการเรียนไปถึงระดับสูงสุดของการแข่งขันหุ่นยนต์ในปัจจุบัน ทางสมาคมฯ ต้องขอขอบคุณการสนับสนุนด้านงบประมาณจำนวนกว่า 2.5 ล้านบาท จากบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ที่เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนานิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยและให้การสนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์อย่างต่อเนื่อง”
รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเมคาทรอนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน กล่าวว่า “เอไอทีขอขอบคุณทางสมาคมฯและบริษัทซีเกทฯ ที่มอบความไว้วางใจให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทยเป็นปีที่ 2 เอไอทีได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการทำให้ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ในอนาคต”
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและดำเนินงานเกี่ยวข้องกับวิศวกรรมหุ่นยนต์อันประกอบไปด้วย นักวิชาการ นักวิจัย และนักอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในวิทยาการด้านหุ่นยนต์ จัดกิจกรรมการปฏิบัติงานทางวิชาการ เพื่อพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ เป็นศูนย์กลางทางด้านข่าวสารในวิทยาการใหม่ ๆ ของหุ่นยนต์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศและสร้างเครือข่ายนักวิจัยและวิชาการเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ในสาขาหุ่นยนต์และวิศวกรรมอัตโนมัติ ท่านสามารถติดต่อสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยได้ที่ โทร. 0-2889-2138 ต่อ 6446 หรือเว็บไซต์ www.trs.or.th
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ รศ. ดร. มนูกิจ พานิชกุล โทรศัพท์ 0-2524-5229 Email: [email protected]
หรือ นางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
โทรศัพท์ 0-2715-2919 Email: [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ