กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--ปตท.
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ดร.จิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ (Chief Operation Officer, Upstream Petroleum and Gas Business Group) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงนามในบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นในการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) กับ มร. ฟาอีซาล เอ็ม อาล สุวาอีดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กาตาร์แก็ส โอเปอเรติ้ง จำกัด (Mr.Faisal M Al Suwaidi, Chairman and Chief Executive Officer) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน รวมถึงรองรับการขยายตัวของความต้องการใช้ทั้งภาคการผลิตกระแสไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และ ภาคคมนาคมขนส่ง
ดร.จิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ปตท. เปิดเผยถึงสาระสำคัญในบันทึกข้อตกลงฯ ว่า ปตท. จะรับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จาก บริษัท กาตาร์แก็ส โอเปอเรติ้ง จำกัด ในปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี ผ่านสถานีรับจ่าย LNG ของ ปตท. ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2554
สถานีรับจ่าย LNG แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง โดยมีศักยภาพในการรองรับเรือบรรทุกก๊าซประเภท คิวเฟล็กซ์ (QFlex - ขนาดบรรทุก 215,000 ลูกบาศก์เมตร) และประเภท คิวแม็กซ์ (Q-Max - ขนาดบรรทุก 265,000 ลูกบาศก์เมตร)
ดร.จิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นในการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในครั้งนี้ นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ เพราะจะทำให้มั่นใจได้ว่าประเทศมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติอย่างเพียงพอและมั่นคง โดย ปตท. สามารถจัดหาก๊าซธรรมชาติเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯของประเทศ ทั้งในภาคการผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรม และ การขนส่ง ได้ตลอดเวลา ซึ่งนอกจากก๊าซธรรมชาติจะเป็นพลังงานที่สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ มีราคาที่สามารถแข่งขันได้ดีเมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงทดแทนชนิดอื่นแล้ว ยังช่วยให้ประเทศประหยัดเงินตราจากการนำเข้าน้ำมันที่ปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นและมีความผันผวนตามสถานการณ์น้ำมันโลก
มร. ฟาอีซาล เอ็ม อาล สุวาอีดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กาตาร์แก๊ส เปิดเผยว่า รู้สึกยินดีในความร่วมมือทางด้านพลังงานระหว่างประเทศไทยกับประเทศกาตาร์ ทั้งนี้ประเทศไทยนับได้ว่าเป็นตลาดใหม่สำหรับกาตาร์ในการส่งออก LNG การลงนามบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นในการซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับ ปตท. ในครั้งนี้ จึงนับเป็นนิมิตหมายอันดีในการใช้ประโยชน์จากพลังงานของทั้งสองประเทศ