กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--กทม.
เห็นชอบนำรูปลักษณ์สถานีรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตอนที่ 1 จากการชนะการประกวดมาประยุกต์ใช้ มีความเหมาะสมทั้งด้านสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีความเป็นไปได้ด้านวิศวกรรมโครงสร้าง และราคาค่าก่อสร้าง พร้อมกำชับทุกสถานี จะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ รวมถึงการประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
นายถนอม อ่อนเกตุพล โฆษกของกรุงเทพมหานคร แถลงภายหลังประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ว่า คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบให้ใช้รูปลักษณ์สถานีรถไฟฟ้าโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตอนที่ 1 โดยประยุกต์จากแบบที่ชนะการประกวด ซึ่งผู้ออกแบบของผู้รับเหมาก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทจะนำรูปแบบหลังคาสถานีชั้นชานชาลา โดยยกหลังคาสถานี เป็น 2 ชั้น โดยยกเป็น 1 ช่วงตลอดความยาว แทนการยกเป็นช่วงๆ 7 ช่วง พร้อมยื่นชายคาแทนการใช้บานเกร็ด ส่วนหลังคาบันไดทางขึ้น-ลงสถานี จะปรับปรุงโดยการใช้หลังคาเป็นชั้นๆ คล้ายรูปแบบเดิม แทนหลังคาชั้นเดียว ช่วยในการระบายอากาศและการมองเห็นที่ดีกว่า ด้านลวดลายพื้นบริเวณชั้นจำหน่ายตั๋ว ใช้ลวดลายพื้นเฉพาะบริเวณกลางสถานีของชั้นจำหน่ายตั๋ว ไม่ให้ลวดลายมากเกินไปเพื่อผู้ใช้บริการจะได้ไม่สับสน ซึ่งสำนักการจราจรและขนส่งจะได้ประสานกับผู้รับจ้างดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ ผู้ว่าฯกทม. ได้กำชับคำนึงถึงแบบการก่อสร้างทุกสถานีของส่วนต่อขยายฯ จะต้องมีลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ รวมถึงการประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
ในส่วนของการประกวดรูปลักษณ์สถานีฯ นั้น สืบเนื่องจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA REPORT) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อ 4 ก.พ. 43 กำหนดให้มีการประกวดรูปลักษณ์สถานี โดยมีคณะกรรมการพิจารณาการประกวดฯ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสถาปัตยกรรม ผังเมือง และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ศ.อรศิริ ปาณินท์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.รุจิโรจน์ อนามบุตร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นายพิสิฐ กาญจนรุจิวุฒิ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรม บริษัท อรุณชัยเสรี คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ส จำกัด ดร.จำลอง สุทิน บริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด นายวิศิษฎ์ ภานุสิทธิกร สถาปนิก 7 วช. ตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร นายวิบูลย์ นิตยโกศล หัวหน้าสถาปนิก บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้คณะกรรมการฯ ใช้เกณฑ์พิจารณาจากรูปลักษณ์ด้านสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ความเป็นไปได้ด้านวิศวกรรมโครงสร้าง ด้านสิ่งแวดล้อม และราคาค่าก่อสร้าง
สำหรับผลการพิจารณาของคณะกรรมการตัดสินการประกวดรูปลักษณ์สถานีรถไฟฟ้า โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตอนที่ 1 ปรากฏว่า รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ บริษัท สถาปนิกหนึ่งร้อยสิบ จำกัด ได้รับรางวัล 6 แสนบาท รางวัลรองชนะเลิศ 2 รางวัลๆ ละ 3 แสนบาท ได้แก่ บริษัท ดีไซน์-ดีเวลล็อป จำกัด และบริษัท คอมโพซิชั่น เอ จำกัด ส่วนรางวัลชมเชย ได้แก่ บริษัท ออลโซน จำกัด ได้รับรางวัล 70,000 บาท ซึ่งผลงานที่ชนะการประกวดจะเป็นแบบที่นำมาประยุกต์ใช้ต่อไป