กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--DEK -PR
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พร้อมเดินสายจัดสัมมนาทั่วประเทศหนุนผู้ประกอบการไทยตะลุยตลาดอินเดีย
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมผลักดันสินค้ากว่า 3,000 รายการ ลดภาษี 0% หลังยกเลิกภาษีไปแล้ว 82 รายการ พร้อมจัดสัมมนาสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้ผู้ประกอบการ 4 ภาค ทั่วประเทศ เห็นโอกาส และศักยภาพ การค้า การลงทุนในตลาดอินเดีย
นายชนะ คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า “อินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นยุทธศาสตร์ในการขยายตลาดใหม่ของกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากมีศักยภาพที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมี GDP เติบโตอัตราร้อยละ 8 ต่อปี และเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง ในเวลานี้อินเดีย เป็นประเทศที่ ทุกๆ ประเทศกำลังจับตามองและวิ่งเข้าไปหา เพราะเศรษฐกิจอินเดียเติบโตเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ในเอเชียรองจากจีน ถือเป็นประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชีย มีประชากรกว่า 1.1 พันล้านคน นอกจากนี้อินเดียมีความสัมพันธ์กับไทยมาช้านาน และเพิ่งครบรอบ 60 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2550 และมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง อินเดียจึงเป็นเป้าหมายหลักที่เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับหนึ่งของไทย และมีปัจจัยดึงดูดการลงทุนมากที่สุดในเอเชียใต้”
รองอธิบดี กล่าวต่อว่า “ในอดีตมูลค่าการค้าระหว่างไทย-อินเดีย มีปริมาณไม่มากนักแต่หลังจากที่ ไทย-อินเดีย ได้ลงนามกรอบความตกลงการจัดทำเขตการค้าเสรีไทย- อินเดีย เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2546 และได้ตกลงลดภาษีสินค้าในเบื้องต้น 82 รายการ โดยได้ลดภาษีเหลือ 0% ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2549 ประกอบกับภาครัฐสร้างความตระหนักให้ผู้ประกอบการรู้จักตลาดอินเดียดีขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการที่จะค้าขายกับอินเดียเพิ่มขึ้น ภาพเก่าๆ ที่มองประเทศอินเดียเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ประกอบกับการหันมาใช้ประโยชน์จาก FTA เป็นเครื่องมือหนึ่งในการค้าขาย เนื่องจากสินค้าบางส่วนได้ยกเลิกภาษีไปแล้ว ส่งผลให้การค้าระหว่างไทย-อินเดีย ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าส่งออกสำคัญของไทยหลายรายการที่มีศักยภาพ เช่น เครื่องรับโทรทัศน์
หลอดภาพโทรทัศน์สี เครื่องปรับอากาศ เครื่องเพชรพลอยและอัญมณี ฯลฯ และทำให้ไทยกลับเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับอินเดีย จากเดิมเมื่อเริ่มลดภาษีมูลค่าการส่งออกอินเดียประมาณ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ปี 2550 ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นสูงถึง 2,600 ล้านเหรียญสหรัฐ”
รองอธิบดี กล่าวเสริมว่า “สำหรับความคืบหน้าการเจรจา FTA ไทย-อินเดียในตอนนี้ นอกเหนือจากการนำร่องยกเลิกภาษีสินค้า 82 รายการ ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการจัดทำ package ที่จะลดภาษีให้สมบูรณ์ เนื่องจากในการประชุมล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา อินเดียขอรื้อบัญชีสินค้าที่จะมีการลดภาษี โดยอ้างว่าผลประโยชน์ที่ได้สองฝ่ายไม่สมดุลกัน ซึ่งทำให้การเจรจาที่น่าจะเสร็จสิ้นแล้ว ต้องล่าช้าออกไปอีก ซึ่งหากผลประโยชน์ที่ไทยจะได้มันลดลง คงต้องทบทวนกันใหม่
รองอธิบดี กล่าวพิ่มเติมว่า “สำหรับการค้าขายกับอินเดียนั้น ควรจะมีตัวกลาง หรือเอเย่นต์ในการติดต่อ เพราะคนอินเดียไม่ค่อยไว้ใจใคร ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐเข้าไปมีส่วนใกล้ชิดกับอินเดียมากขึ้น ดังนั้นกิจกรรมต่างๆ ที่เราเข้าไปเจรจา และส่งเสริมการค้า ถือเป็นเครื่องมือช่วยผู้ประกอบการค้าขายกับอินเดียง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการไทยน่าจะใช้โอกาสดีๆ แบบนี้ เข้าไปเสาะแสวงหาโอกาสในตลาดอินเดีย ถือเป็นตลาดใหม่ ที่มีกำลังซื้อสูงมาก และใช้ประโยชน์จาก FTA ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการอย่ามัวแต่รอ FTA ให้มีผลบังคับใช้ ควรใช้โอกาสจากการจัดสัมมนาของกรมฯ สร้างความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงโอกาสและศักยภาพในตลาดแห่งนี้”
“กรมฯ ได้จัดโครงการสัมมนาเชิงวิชาการภายใต้หัวข้อ “ตะลุยภารตะ ขุมทรัพย์ทางการค้า” เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้ผู้ประกอบการไทย และภาคการผลิตตระหนักถึงศักยภาพของตลาดอินเดีย และสร้างทัศนคติที่ดีต่ออินเดีย รวมทั้งเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเสรีทางการค้าในกรอบ ไทย-อินเดีย และอาเซียน-อินเดีย จะช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับทราบถึงโอกาสในการขยายการค้าและการลงทุนกับตลาดอินเดีย และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าระหว่างไทย/อาเซียนกับอินเดีย เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงระดมความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้ประกอบการ ซึ่งจะทำให้ได้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์และใช้เป็นแนวทางในการเจรจาเปิดเสรีในด้านต่างๆ ต่อไป การสัมมนาจะจัดขึ้นทั่วประเทศ จำนวน 5 ครั้ง ครั้งแรกจะจัดในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นี้ ที่จังหวัดเชียงใหม่ และจะจัดตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งภูเก็ต ขอนแก่น จันทบุรี และครั้งสุดท้ายที่กรุงเทพฯ สำหรับกำหนดวันที่จะประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป” รองอธิบดี กล่าวในที่สุด
- ๑๖ พ.ย. DITP เตรียมโรดโชว์งาน American Film Market 2024 ที่ลาสเวกัส ดึงคอนเทนต์ไทย หวังโกยรายได้ไม่น้อยกว่า 800 ล้านบาท
- ๑๖ พ.ย. ไทยพีบีเอส จับมือ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ผลักดัน "หม่อมเป็ดสวรรค์" สู่ตลาดคอนเทนต์ ระดับสากล ในงาน TIFFCOM 2024
- ๑๖ พ.ย. เจาะลึกวิธีเลี่ยงความล่าช้าในพิธีการศุลกากรนำเข้าสินค้า สำหรับผู้ประกอบการชาวไทย