กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--อินสไพร์ เอนเตอร์เทนเม้นท์
อีกหนึ่งเวทีที่สร้างฝันพร้อมจุดประกายให้กับนักออกแบบรุ่นใหม่ โดย นิตยสาร casaviva นิตยสารแต่งบ้านอันดับหนึ่งจากประเทศอิตาลี ในเครือ บริษัท อินสไพร์ เอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ที่ได้ร่วมกับ บริษัท บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด, บริษัท ไทยซัมซุงอิเลคโทรนิคส์ จำกัด, สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย จัดการประกวดออกแบบชุบชีวิตอาคารเก่าในโครงการ Casaviva Design Contest : Plus Revival Project ล่าสุดได้ผู้ชนะเลิศที่มีผลงานโดดเด่นพร้อมจัดงานประกาศผลรอบตัดสินไปแล้ว ณ ชั้น 1 แกรนด์ฮอลล์ สยามดิสคัพเวอรี่ โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมตัดสิน
โดยรางวัลชนะเลิศได้แก่ “ผลงาน Home in Nature” จากฝีมือการออกแบบของ “นางสาวดวงพร หาญเสรี”และ“นางสาวนัทธ์ชนัน ธรรมชีวัน” นักศึกษาชั้นปี 2 ภาคสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า
“ตื้นเต้นและดีใจมากค่ะไม่คิดว่าจะได้รับรางวัลและได้มีโอกาสเดินทางไปชมงานมิลาน เฟอร์นิเจอร์ แฟร์ ที่ประเทศอิตาลี สำหรับผลงานชิ้นนี้เราสองคนตั้งใจทำกันอย่างเต็มที่พอทราบถึงโจทก์ที่เป็นการปรับปรุงอาคารเก่า เราก็คิดถึงการปรับปรุงที่จะมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน เพราะอาจารย์บอกว่าในฐานะที่เราเป็นนักออกแบบเราก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ คอนเซ็ปต์คือให้อาคารเก่าอยู่ร่วมกับต้นไม้โดยมีความเป็นมิตรกัน ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมร่วมถึงพอได้ไปเวิร์คช็อปก็ทำให้เรานำไปพัฒนามากยิ่งขึ้น เวทีนี้เป็นเวทีแรกทำให้พวกเราตื้นเต้นมากแต่ก็พยายามทำอย่างเต็มที่ กับรางวัลที่ได้รับที่ได้ไปเมืองชมงานระดับโลกที่ประเทศอิตาลีเป็นโอกาสที่หาได้ยาก เหมือนกำลังได้เปิดหนังสืออีกเล่มที่เราไม่เคยได้เปิดอ่าน และอาจจะเป็นหนังสือที่มีเพียงเล่มเดียวทำให้เมื่อมีโอกาสเปิดอ่านแล้ว เราสองคนก็ตั้งใจว่าจะเก็บเกี่ยวสิ่งต่างๆ ที่ได้เห็นได้ชมกลับมาอย่างเต็มที่แน่นอน สำหรับน้องๆ ที่สนใจอยากเข้าประกวดโครงการดีๆ อย่างงี้อย่าลืมเต็มที่กับสิ่งที่ทำ อย่าไปคาดหวังเรื่องรางวัลที่จะกลายเป็นสิ่งกดดันเรา คิดไว้ก่อนว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันสนุก และอยากทำต่อให้ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด เราก็จะรู้สึกมีความสุข ส่วนผลที่ได้รับกลับมาจากการทำงานของเราคือผลกำไรชีวิตของเราเองค่ะ”
ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ “ผลงาน Interactive Space” ของ “นางสาวจิดานันท์ พิสิฐมุกดา” จบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร
อยากให้ทุกคนมีปฏิสัมพันธ์ พูดคุยกันมากขึ้นค่ะ พอศึกษาข้อมูลเพิ่มแล้ว จินำเอางานสถาปัตยกรรมเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ระหว่างคน เพื่อนบ้าน ชุมชนให้ทุกสิ่งกลับมามีความสัมพันธ์กันอีกครั้ง กลายเป็นคอนโดที่ทำให้ทุกคนพูดคุยกันมากขึ้น เวทีนี้เป็นเวทีที่ให้ทุกคนได้สร้างผลงานได้อย่างอิสระซึ่งมีทั้งการออกแบบภายนอกและภายในที่ต้องออกแบบ ยิ่งการไปเวิร์คช็อปที่ผ่านมาทำให้เราได้รับคำแนะนำที่ดีจากคณะกรรมการแต่ละท่าน มองเห็นจุดบกพร่องของเราได้นำผลงานกลับไปพัฒนาและนำมาพรีเซ็นต์ต่อหน้าทุกคนอีกครั้ง ตื้นเต้นมากเป็นเวทีแรกที่เป็นเวทีเปิดได้นำเสนองานต่อหน้าคณะกรรมการและเพื่อนๆ ร่วมถึงบุคคลทั่วไป ทำให้ได้ฝึกฝนตัวเองในด้านอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย จิอยากให้มีเวทีอย่างงี้อีกเรื่อยๆ เพราะจะทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสแสดงความสามารถและได้สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับตัวเอง เพื่อเป็นประวัติที่ดีเวลาไปสมัครงานค่ะ”
และ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่“ผลงาน Oasis” ที่มี “นายพีรภัทร สินธพนำชัย” จบจากศึกษาจากม.รังสิต และ “นางสาวปัญดา ธนะภูมิกุล” นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ABAC
“การประกวดกับนิตยสารคาซาวีว่าครั้งนี้เตรียมตัวมากขึ้นกว่าเดิม ตื้นเต้นด้วยเพราะเป็นเวทีแรกที่เป็นเวทีเปิดครับคือต้องนำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการ, เพื่อนที่ส่งผลงานร่วมประกวดและบุคคลที่เข้าร่วมชมงาน และผลงานของเราก็ได้นำมาโชว์ให้กับทุกคนได้ชมกันด้วย พอเวลาที่มีคนมาชมผลงานเราก็รู้สึกภูมิใจอยู่เหมือนกัน คอนเซ็ปต์ของงานครั้งนี้คือโอเอซิส คือเรามองว่าสุขุมวิทเป็นย่านที่มีมลพิษและอยากให้การปรับปรุงครั้งนี้ของอาคารมีทุกอย่างอยู่ครบ ทั้งความสงบ ธรรมชาติที่ผ่อนคลาย เพราะเป็นอาคารที่พักที่มีความสมบูรณ์แบบกว่าทุกที่ คือเป็นเหมือนสิ่งที่อยู่ท่ามกลางความวุ่นวายแต่เต็มไปด้วยความสงบและครบทุกอย่างที่ควรจะมี การประกวดครั้งนี้ได้ส่งผลงานสองรอบ ทำให้เราได้นำผลงานที่เราออกแบบในครั้งแรก กลับไปพัฒนาเพิ่มเติมดัดแปลงให้มีความสมบูรณ์มากกว่าเดิม ชอบที่ได้ฟังคำแนะนำทั้งจากตอนเวิร์คช็อปและรอบตัดสิน เพราะทำให้เราได้รู้ถึงสิ่งที่เรายังขาดไปอยู่ สำหรับน้องๆ ที่สนใจส่งผลงานเข้าประกวด ไม่ว่าจะอยู่สถาบันไหน จะเก่งขึ้นได้นั่นอยู่ที่ตัวของแต่ละคนเอง งานออกแบบต้องมีความยืดหยุ่นปรับตัวได้ ยิ่งถ้าขยันอ่าน ขยันฟัง ขยันพูดเท่าไรก็จะเป็นผลดีต่อทุกคนมากขึ้นเท่านั้นครับ สิ่งที่ได้จากการประกวดครั้งนี้เราได้ทั้งการฝึกสมอง พัฒนาความคิด จินตนาการที่มีอยู่ ยิ่งได้ทำเยอะเท่าไรก็ยิ่งได้พัฒนาแนวคิดมากขึ้นครับ”