กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--เอสเอ็มอี แบงก์
นายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ( เอสเอ็มอี แบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารมุ่งเน้นผลักดันโครงการพัฒนาสินทรัพย์ชุมชน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์หลักของธนาคารในปี 2551 นี้ โดยขณะนี้อยู่ในการลงไปสำรวจสินทรัพย์ที่ชุมชนนั้นๆ ต้องการพัฒนาร่วมกัน คาดว่า ภายในเดือนก.พ. นี้ จะมีรายการสินทรัพย์ชุมชนทั่วประเทศกว่า 200 รายการออกมา และระหว่างนี้ธนาคารกำลังจัดทำ Package สินเชื่อพัฒนาสินทรัพย์ชุมชนโดยเฉพาะ ทั้งนี้ ธนาคารจะแบ่งสินทรัพย์ชุมชนออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่น บึงบอระเพ็ด อาจจะพัฒนาให้กลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์อย่างจริงจัง มีกิจกรรมดูนก ล่องเรือ ร้านอาหารรอบบึง กลุ่มสถานที่จำหน่ายสินค้าในชุมชน พัฒนาให้เกิดช่องทางจัดจำหน่าย สร้างศูนย์กลางจำหน่ายของชุมชนรวมถึงสถานที่ให้บริการ เช่น โฮมสเตย์ หรือบ่อน้ำพุร้อน และกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปในชุมชน พัฒนาให้เกิดกระบวนการผลิต การแปรรูปปศุสัตว์ ผัก ผลไม้ ซึ่งใช้วัตถุดิบในชุมชนเป็นหลัก โดยเน้นให้ความช่วยเหลือด้านอุตสาหกรรมการผลิตเป็นหลัก จะมีการกำหนดรูปแบบความช่วยเหลือทางด้านเงินทุนในหลายระดับให้ตรงตามความต้องการจริงๆ
สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่จะสนับสนุนสินเชื่อหลักมี 3 กลุ่มด้วยกัน คือ 1. ในนามองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ซึ่งธนาคารมีสินเชื่อ อปท. ไว้สนับสนุน จัดเป็นสินเชื่อขนาดใหญ่วงเงินสูงสุดไม่เกิน 100 ล้านบาท เน้นการลงทุนด้านสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน เช่น สถานที่จำหน่ายสินค้า ตลาดในชุมชน โรงกำจัดขยะชุมชน 2. ผู้ประกอบการขนาดกลาง ที่เป็นผู้ลงทุนในชุมชน เช่น โฮมสเตย์ อุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ 3. ผู้ประกอบการรายย่อยๆ ที่ทำธุรกิจขนาดเล็กในชุมชน โดยรูปแบบนี้จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อในแต่ละกลุ่มที่ชัดเจน เน้นให้โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนกับรายย่อยง่ายขึ้น และมีการบริหารความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยรายย่อยที่ต้องการใช้วงเงิน 2-5 แสนบาท นอกจากนี้ ยังจะพิจารณานำหลักเกณฑ์การสนับสนุนสินเชื่อในโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนมาเป็นหลักประกัน เช่น ที่เช่า เครื่องหมายการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การอนุมัติสินเชื่อมีการผ่อนปรนมากขึ้น
“ขณะนี้ ธนาคารให้สถาบันการศึกษาภาครัฐ 2 แห่ง ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งเป็นนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐกิจและสังคม มาช่วยศึกษา สำรวจ รวบรวม ข้อมูลสินทรัพย์ชุมชนควบคู่กันกับทีมงานสาขาทุกจังหวัดของธนาคาร คาดจะได้ข้อมูลประมาณ 1,500 สินทรัพย์ จากนั้นจะคัดสรรสินทรัพย์ชุมชน เป้าหมายจังหวัดละ 3 สินทรัพย์ และคัดรอบสุดท้ายเหลือนำร่องจังหวัดละ 1 สินทรัพย์ เพื่อให้สาขาของธนาคารลงไปสำรวจ และประสานงานสนับสนุนต่อไป อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหลายแห่งทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมถึงความช่วยเหลือจากสื่อของรัฐมาช่วยประชาสัมพันธ์ให้โครงการนี้สำเร็จ ซึ่งจะส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าแท้จริง” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวในที่สุด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ฝ่ายสื่อสารองค์กร SME BANK
คุณอุบลรัตน์ ค่าแพง โทร.02-265-3601 — 4
- ๒๓ ธ.ค. SME D Bank ขึ้นเหนือร่วม "มหกรรมการเงินเชียงใหม่" วันที่ 8-10 พ.ย. นี้ จัดโปรแรงแห่งปี สินเชื่อดอกเบี้ยถูก 3%ต่อปี ยื่นกู้ในงาน รับทันที! บัตรเติมน้ำมัน
- ๒๔ ธ.ค. SME D Bank เสริมแกร่งเอสเอ็มอีไทย อัดแน่นโปรแกรมพัฒนาตลอดเดือน พ.ย.67 หนุนยกระดับธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต่อยอดถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำพิเศษ
- ๒๓ ธ.ค. SME D Bank ลงพื้นที่โซนภาคกลางมอบนโยบายการทำงานไตรมาสสุดท้าย เดินหน้าเต็มพิกัดหนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงเงินทุนคู่การพัฒนาพาเติบโตยั่งยืน