กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--ตลท.
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และภาคเอกชนจัด “ธรรมศาสตร์ เอเชีย มูท คอร์ป 2008” (THAMMASAT ASIA MOOT CORP 2008) สุดยอดการแข่งขันแผนธุรกิจระดับเอเชีย ชิงรางวัลรวมมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท และเป็นตัวแทนเข้าร่วมแข่งขันแผนธุรกิจระดับโลก หรือ โกลบอล มูท คอร์ป (Global Moot Corp) ณ มหาวิทยาลัยเท็กซัส เมืองออสติน สหรัฐอเมริกา ดึงนักลงทุนชั้นนำทั่วภูมิภาคร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน และ จัดงานเสวนา “ Business to Entrepreneur: Innovations in Corporate Entrepreneurship แลกเปลี่ยนนวัตกรรมของผู้ประกอบการของทุกขนาดและทุกระดับ วันที่ 10 -12 มีนาคมนี้ ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ
นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะเจ้าภาพร่วมจัดการแข่งขันกล่าวว่า ยินดีที่ได้เห็นประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันแผนธุรกิจ เอเชีย มูท คอร์ป ถึง 3 ปีติดต่อกัน ซึ่งไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการจัดการแข่งขันแผนธุรกิจระดับแนวหน้าของทวีปเอเชีย แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศในการส่งเสริมความเป็นเลิศทางธุรกิจอีกด้วย
บริษัทที่มีศักยภาพสูงทั้งในด้านการบริหารและนวัตกรรมด้านสินค้าและบริการจะเป็นบริษัทที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาตัวเอง ให้สามารถเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ ดังนั้น หัวข้อการแข่งขันในปีนี้ “Business to entrepreneur - Innovations in Corporate Entrepreneurship” หรือ “นวัตกรรมนำสู่ความเป็นผู้ประกอบการ” จึงสอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง
“ปัญหาของภาคธุรกิจที่พบในขณะนี้ ไม่ใช่ปัญหาการขาดแคลนการสนับสนุนด้านเงินลงทุน แต่ธุรกิจที่ตั้งขึ้นใหม่หรือธุรกิจเอสเอ็มอี ไม่สามารถผลักดันตัวเองให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้ธุรกิจเกิดใหม่หรือธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นจริง คือ การจัดทำแผนธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ และแสดงศักยภาพของธุรกิจให้ นักลงทุนหรือองค์กรที่สนใจร่วมลงทุนได้รับทราบ การจัดการแข่งขันแผนธุรกิจในครั้งนี้ จึงนับเป็นการช่วยต่อยอดความแข็งแกร่งแก่ภาคธุรกิจได้เป็นอย่างดี โดยนอกจากแนวคิดใหม่ ๆ ด้านการประกอบธุรกิจแล้ว ยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ร่วมกับบริษัทชั้นนำและนักลงทุนระดับมืออาชีพจากทั่วภูมิภาคเอเชียด้วย” นายปกรณ์กล่าว
ในปีนี้มีทีมจากมหาวิทยาลัยชั้นนำรวม 16 ทีมจาก 10 ประเทศทั่วภูมิภาค โดยตัวแทนจากประเทศไทย ประกอบด้วย ทีมจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งทั้งหมดจะต้องฝ่าด่านการคัดกรองของนักลงทุนและผู้ประกอบการชั้นนำจากทั่วภูมิภาคที่มารวมตัวกันเพื่อร่วมเป็นคณะกรรมการผู้ทรงเกียรติ
ศาสตราจารย์ ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงความท้าทายของการแข่งขันในครั้งนี้ว่า “ความตื่นเต้นของการแข่งขันธรรมศาสตร์ เอเชีย มูท คอร์ป จะเริ่มขึ้นทันทีตั้งแต่วันแรก ด้วยการแข่งขันการนำเสนอขายแผนธุรกิจภายใน 60 วินาที จากนั้นผู้เข้าแข่งขันจะต้องฝ่าด่านการแข่งขัน 3 รอบ
เพื่อนำเสนอแผนธุรกิจต่อนักธุรกิจชั้นนำของเอเชีย ที่สลับสับเปลี่ยนมาเป็นคณะกรรมการในแต่ละรอบ”
“นอกจากเงินรางวัลชนะเลิศมูลค่ากว่า 12,500 เหรียญสหรัฐแล้ว ทีมชนะเลิศจะได้รับโอกาสทองในการร่วมแข่งขัน โกลบอล มูท คอร์ป ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผู้ชนะการแข่งขันโกลบอล มูท คอร์ป จะได้รับเงินรางวัลกว่า หนึ่งแสนเหรียญสหรัฐ และได้รับเกียรติลั่นระฆังเปิดตลาดหุ้นแนสแดคที่นิวยอร์กอีกด้วย” ดร.สุรพล กล่าวเสริม
ประวัติศาสตร์ความสำเร็จของมหาวิทยาลัยไทยที่สามารถชนะเลิศการแข่งขันเอเชีย มูท คอร์ป และเข้าไปแข่งขันในโกลบอล มูท คอร์ป จนสามารถคว้าตำแหน่งชนะเลิศและรับเกียรติลั่นระฆังเปิดตลาดหุ้นแนสแดคมาแล้ว ได้แก่ ทีมไอดีลไลฟ์ (Idyll Life) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2548 (ค.ศ.2005) และปีที่แล้ว ทีมพาวเวอร์ พรอน (Power Prawn) ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ชนะเลิศการแข่งขันเอเชีย มูท คอร์ป สามารถคว้าตำแหน่งที่ 2 จากการแข่งขัน โกลบอล มูท คอร์ป ด้วยคะแนนต่างจากทีมชนะเลิศเพียงไม่กี่คะแนน พร้อมกับคว้าโอกาสผลักดันธุรกิจให้เกิดขึ้นจริงด้วยการสนับสนุนทางการเงินจากนักลงทุน
สำหรับงานเสวนา “ Business to Entrepreneur: Innovations in Corporate Entrepreneurship “ ซึ่งจัดให้มีขึ้นในวันที่ 10 มีนาคม 2551 เวลา 13.00 — 16.00 น. ได้เชิญนักธุรกิจชั้นนำระดับเอเชียเข้าร่วมด้วย อาทิ เจฟฟรี แมคโดนัลด์ หัวหน้าผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท เอสจีเอส (SGS) ซึ่งเป็นบริษัทระดับโลกด้านการตรวจสอบและจัดทำระบบมาตรฐาน รวมถึงเดนนิส เมลกา ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ทูน เวนเจอร์ ซึ่งเป็นบริษัทด้านการลงทุนที่ร่วมจัดตั้งโดยผู้ก่อตั้งสายการบินแอร์ เอเชีย และถือหุ้นในโรงแรมทูนโฮเต็ล ซึ่งเป็นโรงแรม “ต้นทุนต่ำ”รายแรกของเอเชียที่ดำเนินการตามแนวคิดเดียวกับการดำเนินงานของสายการบินต้นทุนต่ำ
การแข่งขันครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนหลักทางด้านการเงินจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) โดยมีบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีโอวี มีเดีย จำกัด เป็นผู้สนับสนุนหลักด้านสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ และบริษัท แกรนท์ ธอร์นตัน เป็นผู้รวบรวมคะแนนและผลการแข่งขัน