กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--กทม.
กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญภาษาไทย เน้นให้ข้าราชการ ลูกจ้างใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องตามหลักภาษา โดยเฉพาะการออกเสียงควบกล้ำ ร ล เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประชาชนทั่วไป
น.ส.แสนสุข สตงคุณห์ ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท 0201.3/ว 0334 ลงวันที่ 30 มกราคม 2551 ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งให้ข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2531 เรื่องการออกเสียง ร ล และคำควบกล้ำในภาษาไทย โดยขอให้ข้าราชการระมัดระวังการพูดและใช้ภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ และให้ตระหนักถึงความถูกต้องของการออกเสียงพูดหรืออ่านคำที่มี ร ล และคำควบกล้ำที่มี ร ล โดยให้มีการฝึกฝนปรับปรุง แก้ไข ไม่ให้เกิดข้อบกพร่อง เนื่องจากที่ผ่านมามีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ รวมทั้งบรรยายในสถานที่ต่างๆ ไม่ถูกต้อง อาทิ คำว่า กรม มักออกเสียงเป็น กม คำว่า ขาดแคลน ออกเสียงเป็น ขาดแคน คอนกรีต เป็น คอนกีด ปรับปรุง เป็น ปับปุง และคำว่าเปลี่ยนแปลง ออกเสียงเป็น เปี่ยนแปง ซึ่งทำให้เกิดผลเสียต่อภาษาไทย และอาจจะส่งผลให้การสื่อความหมายไม่ตรงกับความต้องการของผู้พูด ทำให้ผู้ฟังเข้าใจในความหมายของผู้พูดผิดได้
สำหรับกรุงเทพมหานครนั้นถือเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการออกเสียงควบกล้ำ ร ล ซึ่งล่าสุดกองกลาง สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ได้จัดทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงาน และสำนักงานเขตทั้งหมด เพื่อให้กำชับข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างในสังกัดให้ระมัดระวังการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ หากพบว่ามีข้าราชการพูดผิดต้องตักเตือน ปรับปรุงให้ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อให้ข้าราชการของกรุงเทพมหานครเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ภาษาไทยแก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป และจรรโลงภาษาไทยให้เป็นเอกลักษณ์คงอยู่คู่กับประเทศไทยสืบไปด้วย