ผลสำรวจเจบิค ยกไทยแหล่งขยายการลงทุนรองจากจีน พร้อมรั้งอันดับหนึ่ง แหล่งขยายลงทุนอุตฯ ยานยนต์

อังคาร ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๐๐๘ ๑๓:๐๙
กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--บีโอไอ
บีโอไอเผยผลสำรวจเจบิค นักลงทุนญี่ปุ่นยังเชื่อมั่นประเทศไทย โดยยกให้ไทยเป็นอันดับสองรองจากจีนที่บริษัทญี่ปุ่นจะขยายการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นยกไทยเป็นอันดับ 1
นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงผลสำรวจ การประกอบกิจการของบริษัทญี่ปุ่นในต่างประเทศ ครั้งที่ 19 ซึ่งจัดทำโดยธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ แห่งประเทศญี่ปุ่น หรือเจบิคว่า นักลงทุนญี่ปุ่น ร้อยละ 30 ยังคงรักษาคะแนนที่ให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้รับความสนใจในฐานะแหล่งลงทุนสำคัญ ซึ่งเป็นสัดส่วนในระดับต่อเนื่องจากปี 2549 โดยเฉพาะในหมวดอุตสาหกรรมยานยนต์ บริษัทญี่ปุ่นต่างยกให้ไทยเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับ 1 ที่จะขยายการลงทุนเพิ่มเติม
ทั้งนี้จากการสำรวจบริษัทญี่ปุ่นที่ได้เข้าไปลงทุนในไทยแล้ว พบว่าประเทศไทยได้รับความสนใจที่จะขยายธุรกิจสูงเป็นอันดับ 2 รองจากจีน โดยนักลงทุนยังคงเชื่อมั่นต่อศักยภาพในแง่ที่ผลประกอบการทางธุรกิจในไทย มีอัตราผลกำไรสูงกว่าค่าเฉลี่ยผลกำไรของบริษัทที่อยู่ในเครือเดียวกันในประเทศอื่น โดยเฉพาะในหมวดอุตสาหกรรมยานยนต์พบว่าบริษัทที่ตั้งในประเทศไทยมีอัตราผลกำไรสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศอื่น
“ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 4 ในกลุ่มประเทศที่นักลงทุนญี่ปุ่น แสดงความมั่นใจได้รับความสนใจในฐานะแหล่งลงทุนสูงสุด โดยสามอันดับแรก ได้แก่ จีน อินเดีย และเวียดนาม ทั้งนี้ระดับคะแนนในภาพรวมของนักธุรกิจที่มีต่อประเทศไทยไม่ได้ลดลงจากปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า ไทยยังอยู่ในตำแหน่งต้น ๆ ของประเทศที่บริษัทญี่ปุ่นให้ความสนใจ ในขณะที่ประเทศจีน มีคะแนนลดลงติดต่อกันถึง 5 ปี โดยนักลงทุนกระจายความสนใจจากประเทศจีน ไปสู่ประเทศเวียดนามและประเทศอินเดียแทน” นายสาธิตกล่าว
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทที่ตอบว่าสนใจลงทุนในประเทศไทยกว่าร้อยละ 50 ล้วนมีแผนการลงทุนแน่นอนอยู่แล้ว ในขณะที่มีบริษัทจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ตอบว่ามีแผนการลงทุนที่แน่นอนในอินเดียและเวียดนาม แต่การเข้าไปลงทุนจริงยังน้อยกว่าระดับความสนใจ
นายสาธิต กล่าวว่า นักธุรกิจญี่ปุ่นมองว่า สิ่งที่ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจลงทุน มีปัจจัยสำคัญมาจากค่าแรงที่ไม่สูงมากนัก ศักยภาพในการเติบโตของตลาดอุตสาหกรรมสนับสนุน คลัสเตอร์อุตสาหกรรม และขนาดของตลาดในประเทศ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางด้านการตลาดที่ทำให้หาลูกค้ายากขึ้น ต้นทุนที่สูง ลูกค้าเรียกร้องราคาต่ำลง และการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ตามลำดับ ทำให้ความพึงพอใจในการทำกำไรของนักลงทุนลดลง
สำหรับการสำรวจการประกอบการกิจการของบริษัทญี่ปุ่นในต่างประเทศครั้งนี้ได้ดำเนินการระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2550 ครอบคลุมข้อมูลการสอบถามทั้งสิ้น 970 บริษัท ได้รับการตอบกลับ 600 บริษัท หรือคิดเป็นร้อยละ 61.9%

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ