ปตท. เคมิคอล สร้างคุณค่าร่วมใน “นวัตกรรมการเรียนรู้” จากระดับท้องถิ่นสู่แนวคิดระดับชาติ ภายใต้โครงการไตรภาคีร่วมพัฒนาคุณภาพการศึกษา

อังคาร ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๐๐๘ ๑๔:๕๙
กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--ปตท.เคมิคอล
จากการสำรวจความต้องการของชุมชนในเขตระยองพบว่า คนท้องถิ่นมักมองหาปัจจัยและสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถเข้ามามีส่วนช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการงานและอาชีพ สุขอนามัย สิ่งแวดล้อมที่ดี และที่สำคัญยิ่งคือ “การศึกษา” เป็นที่รู้ดีว่าด้านการศึกษาในระดับท้องถิ่นเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง แต่ที่จำเป็นยิ่งก็คือ ทำอย่างไรเพื่อปูพื้นฐานการศึกษาในระดับท้องถิ่นให้มีคุณภาพและเข้มแข็งเพื่อลดช่องว่างด้านการศึกษาระหว่างคนเมืองและชุมชน การเริ่มต้นจากการให้ “ครู” จึงเป็นต้นน้ำสำคัญของการสร้างและปูพื้นฐานการเรียนรู้ที่ดีให้กับเด็กนักเรียนได้
ในวันนี้ บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงการสร้างคุณค่าและร่วมพัฒนาแนวคิดและรูปแบบการศึกษาไทย นับตั้งแต่ระดับท้องถิ่นสู่ระดับชาติ จึงได้ริเริ่มโครงการไตรภาคีร่วมพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยร่วมมือกับ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาระยอง เขต 1 และเทศบาลเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยนำเอานิสิตฝึกสอนที่ผ่านการคัดเลือกอย่างสมบูรณ์ เข้าร่วมโครงการฯ มาฝึกสอนเด็กในโรงเรียนเป้าหมาย เพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนและสังคมทางด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมมาเป็นปีที่สองแล้ว
อดิเทพ พิศาลบุตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การสร้างคุณค่าร่วมกันกับชุมชนเป็นสิ่งที่ต้องทำ ซึ่งเราคงทำเพียงคนเดียวไม่ได้ การนำเอาองค์ความรู้ ความความหลากหลายและเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือเรียกว่า “นวัตกรรม” จะทำให้เราก้าวไปได้เร็ว เราไม่มีสูตรสำเร็จที่จะตัดเย็บแล้วใช้ได้กับทุกเรื่อง แต่เราเน้นที่ “กระบวนการและวิธีการคิด” เพราะตรงจุดนี้เองเราเรียกว่า “นวัตกรรม” เราดูว่าต้องใช้เทคโนโลยีอะไรและมีใครบ้างที่เชี่ยวชาญ มีความรู้ เราก็จับมือร่วมกันสร้างร่วมกันคิดและปรับให้ตรงความต้องการของชุมชน ต้องมีการพัฒนาโมเดลหรือรูปแบบใหม่ๆ (Innovation Model for Education) เพื่อการเรียนการสอนที่เด็กสามารถคิดเองและนำไปต่อยอดเองได้ สำหรับนิสิตฝึกสอนเอง เขาก็ได้ประสบการณ์จากการสอนถือว่าเป็นองค์ความรู้ใหม่ให้กับตัวเขา เขาต้องปรับตัวและเตรียมรูปแบบการเรียนการสอน (Appropriated Model) ให้เหมาะกับความสนใจ ความอยากรู้อยากเห็นและพฤติกรรมของเด็กๆ ตามสภาพแวดล้อมนั้นๆ
เราคาดหวังว่าโครงการฯ นี้จะเป็นการจุดประกายการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยกระบวนการคิดเพื่อสิ่งที่ดีกว่าให้กับรูปแบบการศึกษาไทยให้ขยายออกไปในวงกว้างขึ้น แม้ว่าโมเดลของกระบวนการคิดนี้จำเป็นต้องปรับและใช้ให้เหมาะกับความต้องการของแต่ละสถานที่เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดก็ตาม
เราอยากเห็นชุมชนกับอุตสาหกรรมควรจะเจริญไปพร้อมๆ กัน ด้วยแนวคิดและวิธีการสร้างคุณค่านวัตกรรมร่วมกันที่เราเรียกว่า Shaping an innovative society เพราะตราบใดที่เรายกระดับค่าครองชีพ ระดับการศึกษา ยกระดับวิธีคิดที่มีเหตุมีผล มีองค์ความรู้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาให้ได้ผลประโยชน์กลับมาสู่ประเทศชาติได้อย่างแท้จริง”
รศ.ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พันธมิตรร่วมในโครงการไตรภาคีร่วมพัฒนาคุณภาพการศึกษา กล่าวว่า
“ ประเทศไทยมีโรงเรียนในชุมชนมากกว่าในเมือง ซึ่งมีอยู่สองลักษณะคือ โรงเรียนในชนบทในถิ่นทุรกันดาร และโรงเรียนต่างจังหวัดเมืองเล็กๆ ระบบการศึกษาบ้านเราโรงเรียนในชนบทสู้โรงเรียนในเมืองไม่ได้ ทำให้คนในชนบทก็จะหนีจะเข้าเมือง ฉะนั้นคนเก่งจะได้เปรียบมีโอกาสที่จะสอบแข่งขันเข้ามาเรียนในเมืองได้มากกว่า และมีทั้งคนในชนบทเข้ามาหางานทำในเมือง เพราะมีงานทำมากกว่า ฉะนั้นคนชนบทที่ห่างไกลมากๆ จึงมีแต่เด็กและคนแก่ เพราะพ่อแม่ของพวกเขาต้องมาทำงานในเมือง จึงทิ้งลูกไว้ให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง ตรงนี้เป็นวงจรที่ต่อเนื่องไม่รู้จบ
ปัญหาสังคมท้องถิ่นจึงเป็นปัญหาสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติเป็นอย่างมาก แต่จะทำอย่างไรให้ชนบทมีคุณภาพ ต้องพัฒนาที่การศึกษา ดังนั้นครูจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ฉะนั้นการยกระดับคุณภาพการศึกษา ต้องใช้เวลา
ทางคณะครุศาสตร์ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ จึงเพิ่มหลักสูตรจาก 4 เป็น 5 ปี เมื่อปีที่แล้ว เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทั้งเทคโนโลยีและสารสนเทศที่จำเป็น เพราะเชื่อว่าการถ่ายทอดวิชาความรู้จะไปสู่ผู้เรียนได้อย่างดี และในขณะนี้ทางกระทรวงศึกษาฯ ได้มีการปรับเลื่อนวิทยะฐานครู โดยใช้ผลการเรียนการสอนเป็นสำคัญแทนการใช้วิชาการ ครูจึงต้องมีการปรับตัว มีการพัฒนาตลอดเวลา
คณะครุศาสตร์อยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาไปสู่ชนบท เคยจัดนิสิตฝึกสอนไปสอนตามจังหวัด แต่ก็ขาดปัจจัย พอดีกับทางปตท.เคมีคอล ได้จัดทำโครงการนี้ขึ้นมา ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งตรงนี้ และนี่คือที่มาที่ในการเข้าร่วมโครงการนี้
ในการคัดเลือกนิสิตที่จะไปฝึกสอน จะใช้วิธีจูงใจ ไม่บังคับ แต่ต้องมีคุณภาพ โดยเลือกจากหนึ่ง-อาสาสมัคร สอง-คุณภาพของนิสิต เพราะไปห่างไกล ไกลหูไกลตาผู้ปกครอง ดูแลตัวเองได้มั้ย มีความรับผิดชอบ และไว้ใจได้มั้ย นิสิตบางคนอยากไปแต่พ่อแม่ไม่อนุญาติก็มี ฉะนั้นปีนึงที่ไปจึงได้จำนวนน้อย
นิสิตที่ไปฝึกสอน จะนำนวัตกรรมการเรียนรู้ กระบวนการความคิด สื่อการเรียนการสอน และเทคโนโลยีใหม่ไปถ่ายทอด ทั้งยังได้พัฒนาด้านห้องสมุดหลายโรงเรียน และอีกส่วนหนึ่งเราจัดอบรมครูประจำการ (ครูพี่เลี้ยง) ในการพัฒนาการเรียนการสอนควบคู่ไปด้วย”
เจนจิรา ศรีทองอุ่น นิสิตฝึกสอน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาภาษาอังกฤษและสังคมศึกษา
คุณครูเจนขวัญใจของเด็กๆ โรงเรียนวัดห้วยโป่ง ระดับมัธยม พกพาวิชาความรู้ด้านภาษาอังกฤษและสังคมศึกษามาเต็มเปี่ยม เพื่อถ่ายทอดความรู้สู่เด็กด้วยหัวใจเบิกบาน เธอเล่าว่า “เป็นโอกาสที่ดี่ที่ได้มาใช้ชีวิตในชนบทอย่างนี้ เพราะเป็นเด็กในกรุงเทพฯ ไม่เคยใช้ชีวิตอย่างนี้ ทำให้ต้องฝึกวินัยตัวเอง ต้องอดทน แต่ประทับใจมาก
ในการสอนเราต้องดูว่าเด็กต้องการอะไร ซึ่งเด็กที่นี่ไม่จำเป็นต้องไปแข่งขันหรือสอบเข้าที่อื่น ดังนั้น การสอนภาษาอังกฤษจะไม่เน้นแกรมม่า-หลักไวยากรณ์ แต่จะเน้นที่บทสนทนามากกว่า เพราะที่นี่เป็นเมืองท่องเที่ยว ก็ใช้บทสนทนาเป็นตัวนำ สร้างสถานการณ์ให้สื่อสาร เล่นเกมส์ เด็กๆ สามารถที่จะนำไปใช้ได้จริงๆ แล้วได้ผลนะ เขาสามารถโต้ตอบได้
ในการสอนเราต้องดูว่าเด็กต้องการอะไร ซึ่งเด็กที่นี่ไม่จำเป็นต้องไปแข่งขันหรือสอบเข้าที่อื่น ดังนั้น การสอนภาษาอังกฤษจะไม่เน้นแกรมม่า-หลักไวยากรณ์ แต่จะเน้นที่บทสนทนามากกว่า เพราะที่นี่เป็นเมืองท่องเที่ยว ก็ใช้บทสนทนาเป็นตัวนำ สร้างสถานการณ์ให้สื่อสาร เล่นเกมส์ เด็กๆ สามารถที่จะนำไปใช้ได้จริงๆ แล้วได้ผลนะ เขาสามารถโต้ตอบได้
เวลาสอนจะใช้สื่อการเรียนการสอนเป็น Power Point เด็กๆ จะชอบ และสนใจ กระตือรือร้นในการเรียนมาก ส่วนวิชาสังคม จะสอนวิชาหน้าที่พลเมือง ไม่ใช่สื่อ มีแต่ชีท-เอกสารประกอบเท่านั้น เด็กๆ ก็จะสนุก เพราะไม่เน้นสอนวิชาการมากไป แต่จะสอดแทรกจริยธรรมเข้าไปด้วย
คิดว่าเราได้มาตรงนี้ ได้ประสบการณ์ที่ดี ผูกพันกับเด็กๆ มาก เพราะเราอาจจะอยู่ในวัยใกล้เคียงกัน เด็กๆจะเข้าหาและมีความสนใจในการเรียนขึ้น ฉะนั้นการเป็นครูต้องเข้าใจเด็กๆ อย่าเครียด อย่าพยายามยัดเยียดมากเกินไป เน้นแต่แกรมม่าเด็กจะเบื่อภาษาอังกฤษไปเลย
โรงเรียนที่นี่มีห้องสมุดที่ดี มีคอมพิวเตอร์ แต่ไม่มีอินเตอร์เน็ท อยากให้ลงระบบด้วยค่ะ เพื่อเด็กๆ จะได้ค้นคว้าข้อมูลและเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นค่ะ” คุณครูเจนกล่าวด้วยรอยยิ้มสดใสกับประสบการณ์ความชื่นมื่นในอาชีพครูที่เลือกเดิน
สุรศักดิ์ เรียนรอบ นิสิตฝึกสอน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
คุณครูเก่ง เป็นหัวหน้านิสิตฝึกสอนในครั้งนี้ เป็นคนจังหวัดพะเยา เลือกที่จะเข้าร่วมโครงการ เพราะอยากจะมาฝึกสอนที่ต่างจังหวัด ด้วยเหตุผลว่า “เห็นว่าโครงการนี้ดี ผมเลือกมาฝึกสอนที่โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร เพื่อนำสิ่งใหม่ๆ มาช่วยเขา คือ เทคโนโลยีการเรียนการสอน แต่สิ่งที่ได้รับ เป็นเทคโนโลยีโปรแกรมประยุกต์ในการสอน ซึ่งที่คณะเราไม่มี
ในการเรียนการสอน เราต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็ก เพราะมีเด็กหัวโจ๊ก ที่ชอบคุย ชอบเจี๊ยวจ๊าวในห้องเรียน เรารู้ว่าเขาชอบฟุตบอล เราก็จะไปหาข้อมูลมาคุยกับเขา เขาสนใจ เปิดข้อมูล จนเขาสนิทกับเรา แล้วเขาจะตั้งใจเรียนเอง
ในการสอน เราจะให้เข้าใจง่ายและเห็นภาพ ก็จะใช้สื่อ Power Point ทั้งบอร์ด อุปกรณ์ กระดาษ เด็กๆ จะเรียนแบบ Lerning by Doing เด็กๆ จะสนุกในการเรียนรู้ แล้วเขาก็จะตั้งใจเรียนเอง ส่วนวิชาวิทยาศาสตร์ สอนเรื่องไฟฟ้า จะสอนปฏิบัติและการทดลอง เด็กๆ จะชอบมาก
4 เดือนที่ฝึกสอน เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ทำให้ได้เรียนรู้ รู้จักอุปนิสัยของเพื่อนๆ มากขึ้น แล้วทำให้เราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น และจะไม่ทำให้สถาบันของเราเสื่อมเสีย และที่สำคัญในการสอนเด็กๆ ทำให้ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์นักเรียนกับเราในอาชีพครูได้ดี รู้สึกมีความสุขมากกับเด็กๆ
ผมว่าเด็กชนบทพัฒนาง่ายกว่าเด็กในเมือง เพราะเด็กในชนบทเขาเรียนหนังสือเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ผิดกับเด็กในเมืองที่ต้องเรียนเพราะพ่อแม่อยากให้เรียน ฉะนั้นเด็กพัฒนาได้หากมีต้นแบบ ผมคิดว่าปัจจัยที่จะส่งเสริมให้ระบบการศึกษาดีขึ้น คือครู ต้องดีครับ หนึ่ง-พฤติกรรมดี สอง-ความรู้ต้องดี สาม-เป็นต้นแบบของเด็กๆ และหมั่นพัฒนาประสบการณ์การเรียนการสอน มีหลักสูตรดี เพราะฉะนั้นผมคิดว่าพัฒนาครูให้ดีก่อนพัฒนาการศึกษาครับ”
ด.ญ.วันนิภา มูลมั่ง ป.6/1 โรงเรียนวัดตากวน ( สามัคคีวิทยาคาร )
“ หนูชอบวิชาวิทยาศาสตร์ เพราะชอบการทดลอง และหนูก็ชอบวิชาวาดรูปด้วยค่ะ...ยิ่งมาเรียนวิชาวาดรูปกับคุณครูศิลปะที่มาฝึกสอน หนูยิ่งชอบ เพราะทำให้หนูได้รู้เทคนิคใหม่ๆ ของการวาดภาพ การแร่เงา และการปั้นหน้าคน
คุณครูสอนดี เข้าใจง่ายค่ะ
หนูเป็นคนตั้งใจเรียน เชื่อฟังคุณครูให้อะไรก็ทำ เวลาว่างหนูเล่นอินเตอร์เน็ต เพื่อค้นคว้าข้อมูลที่โรงเรียนนี้สอนคอมพิวเตอร์ด้วย แต่คุณครูที่นี่งานหนักทุกคน อย่างครูสอนคอมพิวเตอร์ก็ต้องสอนพละด้วย เทคนิคใหม่ๆ จึงไม่ค่อยมีเท่าไร
หนูอยากได้คุณครูสอนคอมพิวเตอร์และอังกฤษด้วยค่ะ จะได้พัฒนาตัวเราให้เก่งๆ ค่ะ”
ด.ญ.ปิยะดา กันเกตุ ป.5/2 โรงเรียนมาบชลูด (ทองอินทร์ราษฎร์อุปถัมภ์)
“ คุณครูที่มาฝึกสอน สอนวิชาศิลปะ สอนสนุกดีค่ะ ได้เรียนเรื่องที่เราไม่รู้ ก็ได้ความรู้มากขึ้น เรื่องการวาดรูป การวาดลงเทียน และเรื่องสีน้ำ พ่นสี การพับสีเป็นรูปต่างๆ ให้วาดรูปตามจินตนาการ บางวันเล่านิทานหุ่นมือ สนุกมากๆ
หนูเอากลับไปสอนน้องที่บ้าน อายุ 2 ขวบ หนูจับน้องวาดรูป น้องชอบเขียนรูปเยอะไปหมดเลย แม่ซื้อสีน้ำมาให้ หนูก็เอามาใส่มือน้อง แล้วให้ปะไปที่กระดาษ น้องชอบใจใหญ่เลย น้องสนุกมาก
แล้วคุณครูศิลปะ ยังสอนนาฏศิลป์ด้วย คุณครูมีกิจกรรมให้รำไปแสดงเยอะไปหมด บางทีก็พาไปประกวดที่อื่นๆ ด้วยค่ะ
คุณครูประจำชั้นของหนูสอนหนัก สอนทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคม ส่วนครูภาษาอังกฤษที่นี่มีครูฝรั่งมาสอนเลยค่ะ แต่ครูคอมพิวเตอร์ไม่มี ต้องจ้างครูพิเศษมาสอน และวิทยาศาสตร์หนูชอบเรื่องการทดลองมาก คงสนุกดี แต่ที่นี่ไม่ค่อยมีค่ะ”
น.ส.ชมรัตน์ วรรณศิลป์ ม.3/1 โรงเรียนวัดห้วยโป่ง ( จันทร์ราษฎร์บำรุง)
“คุณครูฝึกสอน สอนวิชาอังกฤษ สังคม และคอมพิวเตอร์ สอนสนุกมาก สบายๆ ไปเครียด ทำให้ไม่เบื่อการเรียน คุณครูมีวิธีสรุปให้เข้าใจง่ายๆ เรียนง่าย เข้าใจก็ง่ายดีค่ะ
วิชาภาษาอังกฤษของครูเจนใช้ได้เลยค่ะ ทำให้เราได้พัฒนาทั้งการเขียนและการพูด แล้วคุณครูมีสื่อการเรียนการสอนที่ดีมาก มีรูปมาโชว์บ้าง มีภาพเคลื่อนไหวบ้าง
โตขึ้นหนูอยากเป็นไกด์ เพราะชอบท่องเที่ยว แล้วพอคุณครูเจนมาสอน ยิ่งทำให้มีแรงกระตุ้นอยากทำอาชีพนี้มากขึ้นเลยค่ะ”
น.ส.สุชาดา สุขโต ม.3/1 โรงเรียนวัดห้วยโป่ง ( จันทร์ราษฎร์บำรุง)
“คุณครูน่ารักมาก เป็นกันเองกับเด็กๆ เหมือนเป็นเพื่อนเป็นพี่ เวลาเรียนแล้วไม่เครียด แต่คุณครูมีวิธีที่ทำให้เราสนใจและตั้งใจเรียนมาก เลยอยากให้คุณครูสอนทุกๆ ชั่วโมงเลยค่ะ
ที่นี่มีนักเรียนเยอะ เกือบ 2000 คน มีครูแค่ 33 คน อยากให้พี่ๆ ฝึกสอนมาสอนกันเยอะๆ เพราะคุณครูสอนสนุก เข้าใจก็ง่าย แล้วมีกิจกรรมให้ทำตลอด ทำให้การเรียนไม่น่าเบื่อเลยค่ะ”
อดิเทพ พิศาลบุตร์ ผู้สนับสนุนโครงการไตรภาคีร่วมพัฒนาคุณภาพการศึกษา กล่าวปิดท้ายว่า ทุกคนมาช่วยกันสร้างสรรค์ให้เกิดสังคมนวัตกรรม ที่เริ่มจากกระบวนการคิด การเรียนรู้ และลงมือปฏิบัติ เพื่อเป็นการสร้างประโยชน์และมูลค่าใหม่ที่ดีกว่า โดยเริ่มได้ตั้งแต่ตัวเรา (พนักงาน) สู่ชุมชน สังคม อุตสาหกรรม และกลับสู่ประเทศชาติ
“ เรากำลังสร้างโมเดลทางด้านนวัตกรรมการศึกษา ที่มีทั้งคณะครุศาสตร์ ชุมชน โรงเรียน นักเรียน และเรา (ปตท. เคมิคอล) ซึ่งมีกระบวนการและรูปแบบที่ค่อนข้างชัดเจน เราสนับสนุนเพื่อให้เกิดนวัตกรรมด้วยกระบวนการคิดและการจัดการ เป็นการนำเอาองค์ความรู้ที่เราร่วมมือและประสานงานระหว่างพันธมิตรต่างๆ ด้วยการนำเอาความหลากหลายและความรู้มาใช้ร่วมกันให้เกิดประโยชน์กับสังคมและส่วนรวม พูดได้ว่าเป็นสิ่งที่สร้างคุณค่าและผลงานที่ยิ่งใหญ่กว่า เป็นทุนที่ยั่งยืนให้กับธุรกิจและสังคมไปพร้อมๆ กัน
เราไม่ได้เน้นที่ผลลัพธ์ แต่เน้นที่กระบวนความคิดตั้งแต่ต้นทาง ถ้าเด็กเริ่มคิดเป็น ก็สำเร็จแล้ว เด็กเหล่านี้สามารถเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ เขาก็จะกล้าคิด กล้าพูด กล้าพัฒนา ไม่เรียนแต่ในตำราแล้ว เริ่มที่จะคิดนอกกรอบ
หากโมเดลนี้สำเร็จ อยากให้แนวคิดได้แพร่กระจายออกไปตามโรงเรียนอื่นๆ ในประเทศ ซึ่งแต่ละโรงเรียนอาจต้องนำแนวคิดนี้ไปปรับหรือจัดระบบใหม่เพื่อให้เหมาะกับโรงเรียนของตนเอง นี่คือนวัตกรรม”
ปตท. เคมิคอล มุ่งมั่นสร้างสรรค์ พัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมที่ยั่งยืน ด้วยการเริ่มต้นที่ดีก่อนในการดำเนินธุรกิจ โดยใช้ “นวัตกรรม” เป็นแนวทางในการค้นหาคุณค่าร่วมกันระหว่างธุรกิจที่เราดำเนินงานกับสังคมที่เราอาศัยอยู่
บริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติม : คุณเชาวนี พันธุ์พฤกษ์
ผู้จัดการส่วน หน่วยงาน CSR และสื่อสารองค์กร
โทร. 02 2658441, 02 2651210

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ