กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--กทม.
นายสุธา นิติภานนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตภาษีเจริญ ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาญัตติขอให้กรุงเทพมหานคร ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ถนนทุกสาย พร้อมคณะ ประชุมแผนการก่อสร้างอุโมงค์ลอดถนนคนเดิน โดยมีนายวัชรา พรหมเจริญ ผู้อำนวยการเขตธนบุรี นางบังอร ถ้ำสุวรรณ ผู้อำนวยการเขตคลองสาน ผู้แทนจากสำนักการโยธา สำนักผังเมือง สำนักการจราจรและขนส่ง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 6 สภากรุงเทพมหานคร
ในที่ประชุมคณะกรรมการฯ ตั้งข้อสังเกต การรื้อสะพานลอยคนข้ามในถนน 4 สายที่เชื่อมต่อกับบริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้แก่ ถ.ประชาธิปก ถ.ลาดหญ้า ถ.สมเด็จพระเจ้าตากสิน และ ถ.อินทรพิทักษ์ โดยเฉพาะส่วนของโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแทนสะพานลอยคนข้ามบริเวณหน้าโรงเรียนศึกษานารี ถ.ประชาธิปก เห็นสมควรออกแบบเป็นรูปตัวแอล (L) ให้มีทางขึ้น-ลงจากทางเท้า ซึ่งมี 3 จุด คือ บริเวณใกล้หอนาฬิกา (ก่อนถึงสะพานข้ามคลองสมเด็จเจ้าพระยา) และบริเวณใกล้ทางแยกอีก 2 จุด ทั้งนี้ควรศึกษารูปแบบอุโมงค์ บริเวณโรงเรียนนนทรีวิทยา ถ.พระราม 3 เป็นตัวอย่าง นอกจากนี้ควรมีร้านค้า หน่วยงาน ฯลฯ อยู่ภายในอุโมงค์ เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ในอุโมงค์และเป็นการสร้างบรรยากาศไม่ให้เงียบจนประชาชนที่มาใช้บริการเกิดความกลัว รวมทั้งให้มีการติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อรักษาความปลอดภัยภายในอุโมงค์ด้วย ทั้งนี้โครงการรื้อสะพานลอยคนข้าม จำนวน 11 สะพาน ในถนน 4 สายที่เชื่อมต่อกับบริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ขณะนี้ยังไม่ดำเนินการแต่จะก่อสร้างทางม้าลายทดแทนและจะงดใช้สะพานลอยชั่วคราวก่อน เพื่อศึกษาถึงผลกระทบทั้งผู้ขับขี่ยานพาหนะและประชาชนในบริเวณดังกล่าว และดำเนินการออกแบบอุโมงค์และกำหนดรูปแบบโครงสร้างและสาธารณูปโภคต่างๆที่เกี่ยวข้องไปพร้อมๆกัน โดยในอนาคตจะไม่ให้มีทั้งสะพานลอยและทางม้าลายแต่จะใช้อุโมงค์เป็นทางลอดแทน โดยได้มอบหมายให้สำนักงานเขตธนบุรีเตรียมแผนการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ ในโครงการดังกล่าวอีกด้วย
นอกจากนี้ในที่ประชุมได้มอบหมายผู้ช่วยเลขาฯ ทำหนังสือถึงองค์การโทรศัพท์ การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง การสื่อสารแห่งประเทศไทย สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการระบายน้ำ ฯลฯ เพื่อเข้าร่วมประชุมหารือโครงการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินและการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชน ระบบสาธารณูปโภคในวันที่ 3 มี.ค. 51 รวมทั้งมีโครงการที่จะไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ เพื่อนำกลับมากำหนดรูปแบบในการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินและพัฒนาให้เป็นย่านแห่งเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครต่อไป