กรุงเทพฯ--4 มี.ค.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทีมนักวิจัยคณะวิศวฯ จุฬาฯ โชว์ผลงานชิ้นโบว์แดง หลังพัฒนาเชื้อเพลิงสะอาดจากชีวมวลหรือไดเมทิลอีเทอร์ไปอีกขั้น และทดลองใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็กที่ใช้ในการเกษตรเป็นครั้งแรกของอาเซียน เชื่อจะเป็นพลังงานทางเลือกในอนาคต
ผศ.ดร.คณิต วัฒนวิเชียร หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยเครื่องยนต์สันดาปภายใน ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า หลังจากที่ทีมวิจัยของคณะฯ ได้นำเอาองค์ความรู้ทางการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวมวล เพื่อคิดค้นพลังงานใหม่ๆ โดยเฉพาะเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ล่าสุดสามารถพัฒนา “ไดเมทิลอีเทอร์” หรือ “ดีเอ็มอี” ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถผลิตได้จากชีวมวล ที่อยู่ในสถานะเป็นแก๊ส คล้ายก๊าชหุงต้ม ซึ่งมีคุณสมบัติไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และสามารถนำไปใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็กที่ใช้ในเกษตรกรรม โดยปราศจากควันดำอีกด้วย
“จุดประสงค์ที่ทำโครงการนี้ขึ้นมา เพราะเราต้องการจุดประกายให้เห็นว่า นอกจาก ไบโอดีเซล และแก๊สแอลพีจีแล้ว เรายังมีพลังงานทางเลือกอื่นอีกมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เชื้อเพลิง ชีวมวล ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างมาก และในอนาคต หากภาครัฐสนับสนุนพลังงานตัวนี้ จะทำให้ประเทศของเรา ลดการพึ่งพาน้ำมันได้อย่างมาก”
สำหรับคุณสมบัติของดีเอ็มอี ที่สำคัญ คือ จุดติดไฟง่าย สามารถเผาไหม้ได้อย่างสมบูรณ์ ไม่เกิดเขม่า ปล่อยแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจนต่ำกว่าเชื้อเพลิงทั่วไป รวมทั้งไม่มีส่วนประกอบของกำมะถัน จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม โครงการวิจัยดังกล่าว ยังคงเป็นเพียงการเริ่มต้น และอยู่ในขั้นของการสาธิตเท่านั้น แต่นับว่า เป็นการทดลองใช้เชื้อเพลิงดีเอ็มอี กับเครื่องยนต์เกษตร เป็นครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน
ส่วนความคุ้มค่าของการลงทุนนั้น ผศ.ดร.คณิต ยอมรับว่า หากเปรียบเทียบตามหลักเศรษฐศาสตร์ ระหว่างการใช้ดีเอ็มอีและน้ำมันดีเซล พบว่า ดีเอ็มอียังมีต้นทุนการผลิตและต้นทุนแก๊สสังเคราะห์ที่ขึ้นอยู่กับต้นทุนวัตถุดิบ ซึ่งหากใช้วัตถุดิบราคาถูก ก็จะมีต้นทุนที่ถูกกว่าน้ำมันดีเซลได้ และหากพิจารณาในเชิงคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมแล้ว จะเห็นว่า การใช้ดีเอ็มอีน่าจะเป็นทางเลือกใหม่ที่ดีกว่าดีเซล เพราะไม่มีมลพิษทางสิ่งแวดล้อม และขณะนี้มีหลายประเทศให้ความสนใจพลังงานชนิดนี้อย่างมาก อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน เป็นต้น
“ปัจจุบันชื่อของดีเอ็มอี เชื้อเพลิงสะอาดนี้ ในประเทศไทยอาจยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากนัก รวมทั้งการทำงานวิจัย และการทดสอบการใช้ดีเอ็มอีเป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ดีเซลยังไม่มีหน่วยงาน รัฐหรือเอกชนให้ความสนใจมากนัก แต่คาดว่าในอนาคตหากผู้ประกอบการด้านเครื่องยนต์และยานพาหนะต่างๆ จะผลิตเทคโนโลยีที่ใช้เชื้อเพลิงชนิดนี้โดยเฉพาะ เชื่อว่าดีเอ็มอี จะเป็นทางเลือกที่สำคัญอันดับต้นๆ ที่จะมาทดแทนน้ำมันดีเซลในอนาคต เพราะเรื่องพลังงานทดแทนไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนไทย และน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับภาวะราคาน้ำมันแพงในปัจจุบัน”
ผศ.ดร.คณิต กล่าวในที่สุด
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 0 2218 6337
ภัทรวดี ใจผ่อง 08 — 5239 - 8400, 08 — 6334 — 1894
- พ.ย. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: CHO ลงนามในสัญญา E-TICKET จำนวน 2,600 คัน
- ๒๓ พ.ย. AMARC ผลงาน Q3 มาตามนัด หนุน 9 เดือน กำไรโตกว่า 217% บอร์ดเคาะจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.02 บาท/หุ้น
- ๒๔ พ.ย. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดบ้านให้นักเรียน ชมห้องแล็บ เรียนรู้สร้างแรงบันดาลใจ
- ๒๓ พ.ย. AMARC ต้อนรับคณะนลท.เพจ "ลงทุนกล้วยๆ-Bananas Investment" ร่วมฟังข้อมูลธุรกิจ