กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--ออนไลน์ แอสเซ็ท
"ประพจน์ พลพิพัฒนพงศ์ " ประเมินผลรายได้ SPPT ปี 2551 เติบโตแบบก้าวกระโดดกว่า 60% และอัตรากำไรขั้นต้นขยับขึ้นแตะ 17-18% จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 14.4% ได้แรงหนุนจากการขยายกำลังการผลิตที่โรงงานแห่งใหม่ที่สิงห์บุรี ทั้งประเมินอุตสาหกรรม Hard Disk Disk ปีนี้คาดขยายตัวประมาณ 14.8% และการขยายตัวของธุรกิจ Non Hard Disk โดยเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตและใช้พื้นที่ที่สิงห์บุรีให้ได้ที่ 90% นอกจากนี้เริ่มรับรู้รายได้จาก 2 บริษัทลูกคือ SPEE และ SPMP อย่างเต็มที่
นายประพจน์ พลพิพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (SPPT) เปิดเผยถึงผลประกอบการในปี 2551 ว่าในส่วนเฉพาะของธุรกิจ SPPT คาดว่าจะขยายตัวถึง 35% แต่ถ้ารวมรายได้จากธุรกิจของบริษัทลูกทั้ง 2 แห่งคือ บริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ เมดิคอล พาร์ท จำกัด (SPMP) และบริษัท ซิงเกิ้ลพอยท์ เอ็นเนอร์ยี่ แอนด์ เอ็นไวรอนเม้นท์ จำกัด (SPEE) จะทำให้บริษัทมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด ถึงกว่า 60% และในส่วนของอัตรากำไรขั้นคาดว่าปีนี้จะปรับตัวดีขึ้น โดยขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 17-18% จากปีที่แล้วอยู่ในระดับ 14.4 % จากการเพิ่มกำลังการผลิตและการใช้พื้นที่ที่สิงห์บุรี ให้ได้ที่ 90% และขยายธุรกิจในส่วนของ Non Hard Disk ที่โรงงานอยุธยามากขึ้น
"ปีนี้ประเมินภาพรวมของอุตสาหกรรม Hard Disk Disk (HDD) คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 14.8% ต่อเนื่องจากปี 2550 ซึ่งประเด็นเรื่องปัญหาซับไพร์มที่สหรัฐอเมริกาเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบกับอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์มากนัก เพราะที่ผ่านมาตลาดสำคัญของ อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์จะมีการเติบโตจะในตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน อินเดีย และแถบเอเชีย เป็นหลัก"
ในส่วนของ SPPT ปีนี้จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรไปยังโรงงานแห่งใหม่ไปอยู่ที่สิงห์บุรี ทำให้การใช้ประโยชน์พื้นที่ที่สิงห์บุรีเพิ่มขึ้นจากเดิม 30% ขยับขึ้นเป็น 60% และจะเพิ่มเป็น 80% ภายในไตรมาสแรกนี้ ส่วนพื้นที่ที่อยุธยาได้ใช้เพื่อรองรับธุรกิจ Non Hard Disk ซึ่งปัจจุบันได้ใช้พื้นที่ไปแล้ว 70% ทั้งนี้คาดว่าจะใช้พื้นที่เต็ม 100% ภายในไตรมาสแรกนี้เช่นกัน
เขากล่าวต่อว่านอกเหนือจากธุรกิจหลักของบริษัทที่คาดว่าผลประกอบการจะมีอัตราการขยายตัวที่ดีต่อเนื่องแล้ว ในปีนี้ SPPT จะรับรู้รายได้จากบริษัทลูกทั้ง 2 แห่ง คือ บริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ เมดิคอล พาร์ท จำกัด (SPMP) ถือหุ้นโดยบริษัทร้อยละ 49.99 ดำเนินธุรกิจการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical Grade) และบริษัท ซิงเกิ้ลพอยท์ เอ็นเนอร์ยี่ แอนด์ เอ็นไวรอนเม้นท์ จำกัด (SPEE) ถือหุ้นโดยบริษัทร้อยละ 49.99 ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานทดแทนโดยการจำหน่าย ประกอบและติดตั้งเครื่องจักรแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมันดิบ และจำหน่ายสารเร่งปฏิกริยาในการแปรรูปเศษพลาสติกเป็นน้ำมันดิบ
"โดยบริษัทได้เซ็นสัญญาจำหน่ายเครื่องแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน 1 เครื่องพร้อมจัดสร้างอาคารสำหรับติดตั้งเครื่องจักร 1 หลังรวมมูลค่า 40 ล้านบาทกับเทศบาลเมืองระยอง และบริษัทได้รับเงินชำระค่ามัดจำเครื่องจักรเรียบร้อยแล้ว กำหนดการติดตั้งเครื่องจักรภายในเดือน พฤษภาคม บริษัทคาดว่าในปี 2551 นี้จะจำหน่ายได้ 3 เครื่องโดยเป็นภาครัฐ 2 เครื่องและภาคเอกชน 1 เครื่อง นอกจากนี้บริษัทยังจะมีรายได้อีกส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายสารเร่งปฎิกิริยา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่กำหนดในสัญญาว่าลูกค้าจะต้องซื้อจากบริษัท ส่วนบริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ เมดิคอล พาร์ท จำกัด (SPMP) ซึ่งเป็นผู้ผลิตข้อต่อพลาสติกใช้สำหรับเครื่องฟอกไตและกระบอกฉีดยาไร้เข็ม ซึ่งเป็นนวัตกรรมของบริษัทที่จดสิทธิบัตรที่ประเทศญี่ปุ่น บริษัทคาดว่าจะได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาประเทศญี่ปุ่นภายในเดือนพฤษภาคม ในปัจจุบันบริษัทได้ตระเตรียมขบวนการผลิตที่โรงงานในนิคมโรจนะ ซึ่งพร้อมที่จะรองรับ คำสั่งซื้อ ที่คาดว่าจะได้รับในเดือนพฤษภาคมเช่นกัน"นายประพจน์กล่าวในที่สุด
บริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจรับจ้างผลิตชิ้นส่วนโลหะที่มีความเที่ยงตรงสูงระดับต่ำกว่า 5 ไมครอน อาทิ Shaft, Sleeve ,Fluid Dynamic Bearing part , Hub ,Camera Part ,machine part เพื่อนำไปประกอบผลิตภัณฑ์ Pivot, Spindle Motor ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของหน่วยบันทึกความจำ (Hard Disk-"ฮาร์ดดิสก์") และชิ้นส่วนของกล้องถ่ายรูป เป็นต้น ลักษณะผลิตภัณฑ์ของบริษัทแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ 1. ส่วนประกอบสำหรับผลิตภัณฑ์ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (Hard Disk Drive) 2. ส่วนประกอบสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (Non Hard Disk Drive) 3. ชิ้นส่วนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ดำเนินธุรกิจภายใต้บริษัท SPMP ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับญี่ปุ่นโดยได้จดสิทธิบัตรของผลิตภัณฑ์วาล์วพลาสติกที่ประเทศญี่ปุ่นสำหรับอุปกรณ์การไหลเวียนของเหลวซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถให้ยาแก่ผู้ป่วยที่มีการต่อสายยางจากร่างกายโดยไม่ต้องใช้เข็มฉีดยา และ 4. เครื่องจักรแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมันดิบ ดำเนินธุรกิจภายใต้บริษัท SPEE ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับอเมริกาและเป็นผู้แทนจำหน่ายแต่เพียงผู้ เดียวในประเทศไทยและในกลุ่มประเทศอินโดจีน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : คุณปภาดา สุวรรณกูฎ (ตุ้ย) โทร. 02-554-9394 , 085-133-0184