กทม. เร่งกำจัดลูกน้ำยุงลายตัดวงจรไข้เลือดออก ยึดหลัก 5 ป “ปิด—เปลี่ยน—ปล่อย—ปรับ—ปฏิบัติ”

พฤหัส ๐๖ มีนาคม ๒๐๐๘ ๐๙:๕๐
กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--กทม.
พบผู้ป่วยไข้เลือดออกตั้งแต่ต้นปีแล้วเกือบ 1,000 ราย ในกทม. พุ่งสูงกว่าปี 50 ในช่วงเวลาเดียวกัน แนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น กทม. ห่วงใจเร่งรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัดวงจรไข้เลือดออกยึดหลัก 5 ป. กำจัดลูกน้ำยุงลาย
กรุงเทพมหานครเร่งรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลาย ตัดวงจรไข้เลือดออก โดยนายจักรพันธ์ พรนิมิตร ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการกองควบคุมโรค สำนักอนามัย กทม. ลงพื้นที่รณรงค์ตัดวงจรโรคไข้เลือดออกใน 3 พื้นที่เขตหนองแขม บางแค และบางขุนเทียน ซึ่งมีดัชนีความชุกชุมของลูกน้ำยุงลายสูง ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยยึดหลักกำจัดยุงลาย 5 ป ปิด—เปลี่ยน—ปล่อย—ปรับ—ปฏิบัติ
นายจักรพันธ์ กล่าวว่า กทม. มีความห่วงใยประชาชนจึงได้ติดตามเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง โดยประสานงานกับสำนักงานเขต และศูนย์บริการสาธารณสุข ในการให้ความรู้กับประชาชนในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย วันนี้ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออกในเขตกลุ่มกรุงธนใต้ 3 เขต ได้แก่ บริเวณชุมชน ซ.หล่อพระ เขตหนองแขม ชุมชนหมู่บ้านมหามงคล เขตบางแค และเคหะชุมชนธนบุรี โครงการ 1 ซ.พระราม 2 เขตบางขุนเทียน บริเวณที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งขณะนี้สถิติผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกในกทม. ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. — 4 มี.ค. 51 จำนวน 970 คน สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก เนื่องจากโรคไข้เลือดออกมีการปรับเปลี่ยนสภาพจากเดิมที่แพร่ระบาดในช่วงฤดูฝน แต่ปัจจุบันสามารถแพร่ระบาดได้ตลอดทั้งปี กทม. ตระหนักถึงสภาพปัญหาและความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงได้เฝ้าระวังและเร่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ทุกครัวเรือนจัดสถานที่พักอาศัยและบริเวณต่างๆ ในชุมชนให้สะอาดปราศจากแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ทั้งนี้นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีคำสั่งให้ผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต มีอำนาจประกาศใช้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 74 ให้ปรับปรุงแก้ไขสถานที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบ หากปล่อยให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายก่อเหตุรำคาญ ต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออกในกรุงเทพฯ
นางป่านฤดี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักอนามัยได้เน้นการรณรงค์เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายแทน การใช้สารเคมี โดยยึดหลัก 5 ป คือ ปิด—เปลี่ยน—ปล่อย—ปรับ—ปฏิบัติ ได้แก่ ปิด ฝาภาชนะ เช่น โอ่งน้ำให้เรียบร้อย เปลี่ยน คือ เปลี่ยนน้ำในภาชนะกันไม่ให้ยุงลายไปวางไข่ ปล่อย คือ ปล่อยปลาหางนกยูงลงในแหล่งน้ำเพื่อให้กินลูกน้ำยุงลาย ปรับ คือ ปรับสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และปฏิบัติ คือ กำจัดยุงลายเป็นประจำทุกๆ 7 วัน เพื่อเป็นการตัดวงจรไข้เลือดออกตั้งแต่ต้นทาง ทั้งนี้ยุงลายมี 4 สายพันธุ์ คนหนึ่งคนสามารถติดเชื้อได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ หากเคยเป็นโรคไข้เลือดออกแล้วสามารถกลับมาเป็นอีกได้ ที่สำคัญหากติดเชื้อซ้ำและต่างสายพันธุ์โรคจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ภาวะโรคร้อนมีผล ทำให้ยุงวางไข่มากขึ้น ผสมพันธุ์มากขึ้น และยุงแม่พันธุ์สามารถถ่ายทอดเชื้อไปสู่ลูกได้โดยตรง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่ง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ