กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--ธนาคารออมสิน
วันนี้ (6 มีนาคม 2551) ณ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ปฏิบัติภารกิจติดตามการดำเนินงานและมอบนโยบายแก่ธนาคารออมสิน โดยมี นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ ประธานกรรมการธนาคารออมสิน นายวิศิษฐ์ วงศ์รวมลาภ กรรมการธนาคารออมสิน รักษาการแทน ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน พร้อมด้วย คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานธนาคารออมสิน ให้การต้อนรับ
นายวิศิษฐ์ วงศ์รวมลาภ กรรมการธนาคารออมสิน รักษาการแทน ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 94 ปี ของการดำเนินงาน ธนาคารออมสินเป็นสถาบันการเงินที่ได้ร่วมสนับสนุนและเสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด โดยในปี 2551 ธนาคารออมสินได้กำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงานตามกรอบแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานปี 2551-2555 ที่มีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมการดำเนินงาน เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันและสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติตามแผนบริหารราชการแผ่นดิน ในด้านการแก้ไขความยากจน การกระจายความเจริญสู่ชนบทและลดช่องว่างของรายได้ พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งจะเป็นกรอบและแนวทางการดำเนินงานให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ของธนาคาร คือ เป็นสถาบันการเงินที่มั่นคงเพื่อการออม การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ การเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน การเพิ่มและขยายธุรกรรมทางการเงินที่หลากหลาย การส่งเสริมการออมและสร้างวินัยทางการเงิน และ การเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับฐานรากตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 4 ข้างต้น ธนาคารออมสินได้ตระหนักถึงความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการกระจายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย สร้างทางเลือกและลดการพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีโอกาสในการสร้างงาน สร้างรายได้ด้วยตนเอง ธนาคารออมสิน จึงได้ปรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อรวมในปี 2551 เพิ่มขึ้นจากเดิม 134,000 ล้านบาท เป็น 176,500 ล้านบาท โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเป็นวงเงินทั้งสิ้น 71,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้าน/ชุมชน (SML) วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท และสินเชื่อที่ให้แก่กลุ่มองค์กร ชุมชน และ ประชาชน (ตามนโยบายรัฐบาล) วงเงินรวม 31,000 ล้านบาท ประกอบด้วย สินเชื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3,000 ล้านบาท สินเชื่อธนาคารประชาชน 5,000 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อพัฒนาชนบท 2,000 ล้านบาท สินเชื่อต่อยอดกองทุนหมู่บ้านฯ 4,000 ล้านบาท สินเชื่อเคหะโครงการบ้านเอื้ออาทร จำนวน 6,000 ล้านบาท สินเชื่อ SMEs 10,000 ล้านบาท และสินเชื่อห้องแถว 1,000 ล้านบาท
“ธนาคารออมสิน ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีพันธกิจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ เชื่อว่าเครือข่ายสาขากว่า 700 แห่งที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จะสามารถสนับสนุนให้เม็ดเงินไปสู่ประชาชนระดับฐานรากได้ทั่วถึงเป็นอย่างดี” นายวิศิษฐ์ กล่าวในที่สุด
อนึ่ง ณ สิ้นปี 2550 ผลการดำเนินงานด้านสินเชื่อที่ธนาคารออมสินสนับสนุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญ มีดังนี้ สินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2544 สามารถปล่อยสินเชื่อให้แก่ประชาชนได้ 1,520,530 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อจำนวน 37,353 ล้านบาท โดยมียอดสินเชื่อคงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2550 จำนวน 6,870 ล้านบาท ขณะที่โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2544 เช่นกัน ธนาคารออมสินสามารถจัดสรรเงินไปสู่หมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศได้ถึง 63,644 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2550 มียอดสินเชื่อคงค้าง 14,217 ล้านบาท
สินเชื่อต่อยอดหมู่บ้าน และหมู่บ้าน SML สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 9,056 ล้านบาท จากจำนวน 10,311 องค์กร มียอดสินเชื่อคงค้าง 3,696 ล้านบาท ขณะที่ สินเชื่อเพื่อพัฒนาชนบท ที่สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการผลิตให้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มแม่บ้าน และกลุ่มชุมชนอื่นๆ อีก 222,967 ราย
- ธ.ค. ๒๒๓๓ ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Deputies’ Meeting: AFDM) ในวันที่ 3 เมษายน 2562 ณ จังหวัดเชียงราย
- ธ.ค. ๓๗๐๑ กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต ร่วมงานมหกรรมการเงิน Money Expo หาดใหญ่ ครั้งที่ 9
- ธ.ค. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: สร้างโอกาสทำกำไร สู่เป้าหมายเงินล้าน ที่บูธตลาดหลักทรัพย์ฯ @MONEY EXPO HATYAI 2019