กรุงเทพฯ--10 มี.ค.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) แจงเงินกองทุนประกันสังคม เป็นเงินที่เกิดจากการส่งเงินสมทบของนายจ้าง ผู้ประกันตน และรัฐบาลสมทบ เพื่อดูแลผู้ประกันตนใน 7 กรณี พร้อมแจงการลงทุนต้องเกิดประโยชน์ต่อผู้ประกันตน
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า กองทุนประกันสังคมเกิดขึ้นจากการส่งเงินสมทบจากนายจ้าง ผู้ประกันตน และรัฐบาลสมทบ เพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนใน 7 กรณี คือกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตายไม่เนื่องจากการทำงาน และกรณีคลอดบุตรในอัตราร้อยละ 1.5 กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพในอัตราร้อยละ 3 และกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 0.5 โดยคำนวณจากฐานค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท
กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนรวม 499,912 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินกองทุนกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ 398,488 ล้านบาท ซึ่งกองทุนประกันสังคมจะออมไว้เพื่อจ่ายบำนาญชราภาพ ในปี 2557 เงินกองทุนที่ดูแลกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ คลอดบุตร 72,736 ล้านบาท และเป็นเงินกองทุนกรณีว่างงาน 28,688 ล้านบาท โดยสำนักงานประกันสังคมได้นำเงินลงทุนจำนวน 499,912 ล้านบาท แบ่งลงทุนในหลักทรัพย์ ที่มีความมั่นคงสูง ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังค้ำประกัน เงินฝากธนาคาร และหุ้นกู้เอกชน 412,370 ล้านบาท และลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ตราสารหนี้อื่น ๆ หน่วยลงทุน และหุ้นสามัญ 87,542 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18 ของเงินลงทุน (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2550)จากการที่สำนักงานประกันสังคม ได้นำเงินกองทุนไปลงทุนเป็นการสร้างรายได้ เพื่อให้กองทุนมีความมั่นคงและสามารถดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนได้มากขึ้น โดยผลจากการลงทุนทำให้กองทุนประกันสังคมได้ผลตอบแทน จำนวน 21,109 ล้านบาท ซึ่งเงินผลตอบแทนจำนวนดังกล่าวนี้ ทางสำนักงานประกันสังคมได้นำมาปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีต่าง ๆ ให้แก่ผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง
นายสุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า จากข่าวที่ว่าสำนักงานประกันสังคมจะให้ความสนับสนุนด้านการเงินเพื่อทำโครงการช่วยล้างหนี้ครูนั้นคงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเงินกองทุนประกันสังคมเป็นเงินที่ผู้ประกันตนกว่า 9 ล้านคนได้ส่งสมทบเข้ามาสู่กองทุนเพราะฉะนั้นการลงทุนในแต่ละครั้งเราคงจะต้องคำนึงถึงผลตอบแทนที่จะมาถึงผู้ประกันตนเป็นหลัก การลงทุนของกองทุนประกันสังคมนั้น เป็นไปตามกรอบการลงทุนที่กำหนดโดยคณะกรรมการประกันสังคม และความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง ซึ่งสำนักงานประกันสังคมสามารถแบ่งเงินลงทุนส่วนหนึ่งไปลงทุนทางสังคมได้ แต่จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางอ้อมของผู้ประกันตนหรือลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิก ของกองทุนประกันสังคมเท่านั้น แต่หากจะให้นำเงินกองทุนไปช่วยเหลือครูโดยตรงคงจะไม่ใช่ภาระหน้าที่ของกองทุนประกันสังคม เพราะหน้าที่ที่แท้จริงคงต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้ประกันตนได้รับเป็นอันดับแรก
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วนประกันสังคม 1506 www.sso.go.th
- พ.ย. ๒๕๖๗ สปส.แนะผู้ประกันตนที่มีบุตรแรกเกิดถึง 6 ปี และส่งเงินสมทบครบ 12 เดือนขึ้นไป สามารถยื่นรับสิทธิสงเคราะห์บุตรได้
- พ.ย. ๒๕๖๗ สปส.แจงแนวปฏิบัติส่งลูกจ้างและผู้ประกันตนทุพพลภาพเข้าศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพฯ
- พ.ย. ๒๕๖๗ สปส.เตือนหากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล ของนายจ้างและผู้ประกันตน นายจ้างต้องรีบแจ้ง ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป