กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--มูลนิธิวิทยาศาสตร์ฯ
ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเปิดการฝึกอบรมว่าเมืองไทยในหนึ่งหมื่นคนมีนักวิจัยประมาณ 3 คน การลงทุนวิจัย คือ 0.26 % ของ GDP เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เราน้อยกว่าเขาประมาณ 5 เท่า ซึ่งผมได้เรียนให้ทางรัฐบาลทราบอยู่ตลอดเวลา
อย่างไรก็ดี กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ผมได้รับนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ลงมาช่วยดูว่างานวิจัยพัฒนาของไทยเรา ทำไมมีหลายหน่วยงานมากถึง 5-6 แห่ง ผมได้เรียกประชุมแล้วและกำลังเสนอว่าไม่ได้เป็นการรวมหน่วยงานเข้าด้วยกัน แต่เป็นการนำหน่วยงานต่าง ๆ มาอยู่ภายใต้ภารกิจเดียวกัน แล้วก็วางแผนงานวิจัยและพัฒนาของประเทศให้ชัดเจน หลายคนก็เห็นด้วยและกำลังจะดำเนินการงานวิจัยเป็นแค่ส่วนย่อยของแผนใหญ่ของประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้เสนอให้มีคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มีท่านรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และได้เรียนให้ท่านนายกฯ ท่านอยู่ตลอดเวลา แล้วเราก็เริ่มมีแผนกลยุทธ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศที่มีแนวทางชัดเจน
ผมเคยทำงานเรื่องไอทีมาก็ทำแผนกลยุทธ์ด้านไอทีจนกระทั่งประสบผลสำเร็จ แต่วิทยาศาสตร์มีความยากกว่า วิทยาศาสตร์จับตัวตนไม่ค่อยจะอยู่ ไอทีจับอยู่เหมือนคอมพิวเตอร์มีหน้าตาอย่างนี้รัฐบาลก็เข้าใจเอกชนหนุนแรงก็มีภารกิจมากมายเกิดขึ้นได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ขณะนี้แผนกลยุทธ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำเสร็จแล้ว วันที่ 23 มีนาคม เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายการบริหารประเทศ ผมเชื่อว่าจะมีรายละเอียดเหล่านี้อยู่ด้วย ที่สำคัญก็คือ จะต้องเอาวิทยาศาสตร์ช่วยเพิ่มมูลค่าให้ได้
กลยุทธ์แรกที่สำคัญคือ ต้องมีการสร้างเครือข่ายวิสาหกิจ (Cluster) ตัวอย่างเช่น Cluster อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ มีการประสานเครือข่ายการทำวิจัยกุ้งกุลาดำที่จุฬาฯ และ ม.มหิดล ช่วยกันดูว่ากุ้งกุลาดำมีปัญหาโรคอะไรแล้วเราจะแก้ไขอย่างไร เป็นต้น อย่างนี้รัฐบาลจะหันมาสนใจ ทำให้ตรงกับนโยบายของรัฐบาล
กลยุทธ์ที่ 2 การพัฒนากำลังคนต้องขอบคุณท่านประธานมูลนิธิวิทยาศาสตร์ฯ และท่านคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ที่เห็นความสำคัญ เรื่องกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นปัญหามาก ไม่ใช่การผลิตเฉพาะวิศวกร เราต้องผลิตนักวิทยาศาสตร์ด้วยเพราะถ้าไม่มีความรู้เฉพาะทางก็นำไปทำประโยชน์ไม่ได้ เราต้องทำความเข้าใจกับนาโนเทคโนโลยีและการนำไปสู่เศรษฐกิจยุคโมเลกุล เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าเราพัฒนากำลังคนผลิตกำลังคนปีละเท่าไรและแบ่งตัวเลขอย่างไร ที่มหาวิทยาลัยจะผลิตได้อย่างเช่น ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ด้านนาโนเทคโนโลยี และถ้าทำได้สำเร็จก็ค่อยขยายไปสู่มหาวิทยาลัยแห่งอื่น ทำงบประมาณขอรัฐบาลให้ชัดเจน
กลยุทธ์ที่ 3 โครงสร้างพื้นฐานโรงเรียนวิทยาศาสตร์ รัฐบาลจะเริ่มดำเนินการทำจำนวน 6-12 โรงเรียนก่อน ซึ่งรัฐบาลให้ความสนใจมาก และจะขยายออกไปสู่ขอนแก่น เชียงใหม่ สงขลา เป็นต้น
กลยุทธ์ที่ 4 โครงสร้างพื้นฐานนักวิทยาศาสตร์ มุ่งเป้าโดยตรงที่ภาคเอกชน เป็นต้นน้ำซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ปัจจุบันกระทรวงการคลังเริ่มสนใจจะให้ภาคเอกชนตั้งกองทุนวิจัย สาเหตุคือ GDP มีค่า 6 ล้านล้านบาท มีอยู่ในภาคเอกชน 5 ล้านล้านบาท และมีอยู่ในภาครัฐ 1 ล้านล้านบาท เราปรับภาครัฐให้เต็มที่ก็ได้ 1 ใน 60 ดังนั้น เอกชนจะต้องลงมือทำอย่างจริงจัง
กลยุทธ์ที่ 5 คือการสร้างความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราเริ่มปรับโครงสร้างการบริหารวิทยาศาสตร์
ผมเชื่อว่าแผนกลยุทธ์ในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประเทศของเราเริ่มหันไปถูกทางแล้วเพียงแต่ว่าจะทำอย่างไร ให้เรือทรงตัวอยู่ได้ เป็นดัชนีชี้วัด ดังนั้น เราจึงควรนำวิทยาศาสตร์มาเป็นตัวกำหนดเศรษฐกิจเพื่อปรับอันดับเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการพัฒนากำลังคน เรามีความจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างกำลังคน และการฝึกอบรมการปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน น่าจะลองคิดภาพรวมว่าหากจะฝึกอบรมบุคลากรครูอาจารย์ทั่วประเทศ จะใช้งบประมาณเท่าไรเราจะฝึกอบรมเพิ่มขึ้นปีละเท่าไร
เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะค่าใช้จ่ายน้อย สิ่งแวดล้อมดี ขณะนี้เป็นระบบเศรษฐกิจมีการผลิตขายชุดทดสอบเคมีแบบย่อส่วนขายแล้วยิ่งน่าสนใจมากขึ้นอีก ลองทำแผนการฝึกอบรมขึ้นมาแล้วลองหาผู้สนับสนุนจากเอกชนมาช่วยเสริม ดูว่าทำได้ปีละกี่เปอร์เซนต์ แล้วถ้าทำอย่างนี้ประเทศจะได้อะไร จะต้องมีความชัดเจนว่าจะทำอะไร แล้วประเทศไทยได้อะไร แล้วจะให้ผมทำอะไร ก็คาดว่าโครงการฝึกอบรมวิทยากรเคมีแบบย่อส่วนแก่ครู-อาจารย์นี้เป็นแนวทางบูรณาการที่น่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในที่สุด
ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานมูลนิธิวิทยาศาสตร์ ดร.ปรีชา-ประไพ อมาตยกุล กล่าวว่าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิวิทยาศาสตร์ ดร.ปรีชา-ประไพ อมาตยกุล จัดการอบรม “การฝึกวิทยากรทางปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตวิทยากรประจำเครือข่ายของศูนย์ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และเตรียมความพร้อมในการเผยแพร่ความรู้และเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนไปสู่โรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 14-15 มีนาคม 2548 เวลา 08.00-16.00 น. ณ ห้องประชุม M 01 อาคารมหามกุฎ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีผู้เข้าอบรมเป็นอาจารย์เคมี จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศไทย จำนวน 130 คน
ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้เห็นความสำคัญของการทำลายการทดลองเคมีที่ใช้สารปริมาณน้อย จึงได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2543 และได้เผยแพร่เทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนมาเป็นระยะ เพื่อให้การเผยแพร่ความรู้และเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนไปสู่โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศไทยอย่างรวดเร็ว จึงได้เสนอโครงการการสร้างองค์ความรู้ทางปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนระดับ โรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศไทยต่อกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยผ่านมูลนิธิวิทยาศาสตร์ ดร.ปรีชา-ประไพ อมาตยกุล เพื่อขอรับการสนับสนุนเงินทุนภายใต้โครงการสำหรับขอรับทุนอุดหนุน สมาคมวิทยาศาสตร์ฯ บัดนี้ ได้รับแจ้งจากมูลนิธิฯ ว่าโครงการดังกล่าว ได้รับการอนุมัติแล้ว จึงเห็นสมควรจัดการฝึกอบรมให้แก่อาจารย์เคมีจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศไทย เพื่อเป็นวิทยากรอบรมประจำเครือข่ายของศูนย์ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนในการถ่ายทอดความรู้และเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนให้แก่ครูในโรงเรียนมัธยมศึกษาต่อไป--จบ--
- ธ.ค. ๒๕๖๗ อว. - กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ใน 11 สาขา 5 รูปแบบ ทั้งเกษตร การแพทย์ พลังงาน การบินและอวกาศ “ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” เผยต้องนำความู้ระดับสูงจากต่างประเทศมาต่อยอดประยุกต์ให้เหมาะสม
- ธ.ค. ๗๘๑๔ วว. ร่วมแถลงข่าวงาน ASEAN Next 2019 : STI Leading towards Community Happiness
- ธ.ค. ๒๕๖๗ วศ. หนุนผู้ประกอบการของไทยพัฒนาคุณภาพการผลิตกระดาษ รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งสินค้าทั้งในและต่างประเทศ