กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เตรียมการเลือกผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง เข้ามาเป็นคณะกรรมการไตรภาคีของสำนักงานประกันสังคม เน้นความเหมาะสมของงบประมาณในเรื่องของค่าใช้จ่าย และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 84(7)
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า หลังจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดเลือกผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ในคณะกรรมการไตรภาคีของสำนักงานประกันสังคม เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2551 ที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคมได้รับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายจากตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง รวมทั้ง ผู้แทนองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการวางแนวทางเพื่อจัดการเลือกผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง โดยสำนักงานประกันสังคมจะนำความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่าง ๆ เหล่านี้มาเพื่อวางแนวทางการเลือกผู้แทนเข้ามาเป็นคณะกรรมการไตรภาคีของสำนักงานประกันสังคมต่อไป
นายสุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า การจัดการเลือกผู้แทนในครั้งนี้นอกจากเราจะได้รับความคิดเห็นจากตัวแทนฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง เข้ามาร่วมเพื่อกำหนดวิธีการในการเลือกผู้แทนแล้ว เรายังคงต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการเลือกตั้ง ซึ่งคงต้องมีความเหมาะสม และในการจัดการเลือกผู้แทนในครั้งนี้ยังต้องเป็นไปอย่างสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 84(7) ที่ได้กำหนดไว้ว่า ส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงาน มีงานทำ คุ้มครองแรงงานเด็กและสตรี จัดระบบแรงงานสัมพันธ์และระบบไตรภาคีที่ผู้ทำงาน มีสิทธิเลือกผู้แทนของตน จัดระบบประกันสังคม รวมทั้งคุ้มครองให้ผู้ทำงานที่มีคุณค่าอย่างเดียวกันได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ตามทางสำนักงานประกันสังคมจะเดินหน้าจัดการเลือกผู้แทนในครั้งนี้ให้มีความเหมาะสมมากที่สุด เพื่อให้การเลือกคณะกรรมการไตรภาคีของสำนักงานประกันสังคมในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยต่อไป
- ม.ค. ๒๕๖๘ สปส.แนะผู้ประกันตนที่มีบุตรแรกเกิดถึง 6 ปี และส่งเงินสมทบครบ 12 เดือนขึ้นไป สามารถยื่นรับสิทธิสงเคราะห์บุตรได้
- ม.ค. ๒๕๖๘ สปส.แจงแนวปฏิบัติส่งลูกจ้างและผู้ประกันตนทุพพลภาพเข้าศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพฯ
- ม.ค. ๒๕๖๘ สปส.เตือนหากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล ของนายจ้างและผู้ประกันตน นายจ้างต้องรีบแจ้ง ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป